ข้อมูลล่าสุดของบัญชีแดงว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ซึ่งจัดทำโดยบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น ประกาศว่ามีพืชและสัตว์สูญพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 31 ชนิดพันธุ์
ในจำนวนสัตว์และพืชที่สูญพันธุ์มีหนึ่งชนิดพันธุ์ฉลามคือ ฉลามลอสต์ (lost shark) ซึ่งถูกขึ้นบัญชีว่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และอาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ฉลามลอสต์มีถิ่นที่อยู่อาศัย ณ ทะเลจีนใต้ น่านน้ำซึ่งมีการประมงอย่างเข้มข้นมาเนิ่นนานนับศตวรรษ ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจากไอยูซีเอ็นมีความเห็นตรงกันว่าฉลามลอสต์ไม่น่าจะมีโอกาสอยู่รอดได้ จึงขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ
ที่ทะเลสาบ Lanao รวมถึงลำน้ำสาขา ณ ประเทศฟิลิปปินส์ มีปลาน้ำจืดทั้งสิ้น 17 ชนิด โดย 15 ชนิดพันธุ์ถูกประกาศว่าเป็นสัตว์สูญพันธุ์ ส่วนอีก 2 ชนิดพันธุ์อยู่ในสถานะถูกคุกคามอย่างยิ่ง ไอยูซีเอ็นระบุว่าสาเหตุของการสูญพันธุ์นั้นเกิดจากการปล่อยสัตว์น้ำนักล่าต่างถิ่นสู่แหล่งน้ำ รวมถึงการประมงเกินขนาดและการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง
สำหรับทวีปอเมริกากลาง กบ 3 ชนิดพันธุ์ได้รับการประกาศว่าสูญพันธุ์ ส่วนกบอีก 22 ชนิดพันธุ์ที่พบในทวีปอเมริกากลางและใต้อยู่ในบัญชีถูกคุกคามอย่างยิ่งหรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์คือโรคไคทริด (chytridiomycosis disease) โรคติดต่อซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อราซึ่งกระทบต่อสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก
นอกจากนี้ โลมาน้ำจืดทุกชนิดพันธุ์ที่พบบนโลกก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เช่นกัน โดยปีนี้รายชื่อดังกล่าวมีสมาชิกใหม่คือโลมาตูคูซี (tucuxi) โลมาน้ำจืดที่พบในลุ่มน้ำแอมะซอน ประชากรของโลมาตูคูซี ‘ลดลงอย่างร้ายแรง’ เนื่องจากเสียชีวิตเพราะเครื่องมือประมง เขื่อนกั้นแม่น้ำ และมลภาวะ ทางออกสำคัญของวิกฤติดังกล่าวเพื่อฟื้นจำนวนประชากรคือ ห้ามการใช้อวนติดตา (gillnets) ลดจำนวนเขื่อนและฝายที่กั้นทางน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงห้ามการล่าอย่างเด็ดขาด
สำหรับพืชพรรณนั้น ไอยูซีเอ็นพบว่าชนิดพันธุ์ต้นโอ๊กราว 1 ใน 3 กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะในประเทศจีนและเม็กซิโก รองลงมาคือเวียดนาม สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย โดยมีปัจจัยสำคัญคือการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อทำไม้และทำการเกษตร ประกอบกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ดี มีสัตว์บางชนิดพันธุ์ที่มีการฟื้นจำนวนประชากร เช่น ควายไบซันยุโรป สัตว์บกขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในทวีปยุโรปที่ขยับจากกลุ่มเปราะบางสู่กลุ่มชนิดพันธุ์ที่อาจถูกคุกคาม ประชากรความไบซันยุโรปตามธรรมชาติได้เพิ่มจาก 1,800 ตัวเมื่อ พ.ศ. 2547 เป็น 6,200 ตัวเมื่อปี พ.ศ. 2562 จากเดิมที่พบในโรงเลี้ยงเมื่อราวศตวรรษก่อนและเริ่มโครงการฟื้นประชากรตามธรรมชาติเมื่อราว 70 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดนั้นพบในประเทศโปแลนด์ เบลารุส และรัสเซีย
ปัจจุบัน ควายไบซันยุโรปกระจายตัวกันอยู่ 47 ฝูงตามธรรมชาติ แต่พวกมันต่างก็ถูกโดดเดี่ยวเพราะถูกกันกันในกลุ่มป่าขนาดเล็ก มีเพียง 8 ฝูงเท่านั้นที่ใหญ่พอที่จะไม่เผชิญผลกระทบด้านพันธุกรรมในระยะยาว ดังนั้นควายไบซันยุโรปก็ยังต้องพึ่งพาความพยายามในการอนุรักษ์และดูแล รวมถึงเคลื่อนย้ายประชากรไปยังพื้นที่ขนาดใหญ่และไม่กระทบต่อประชากรมนุษย์
มีอีก 25 ชนิดพันธุ์ที่สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ‘พลังของการอนุรักษ์’ ตามที่ Dr. Bruno Oberle ผู้อำนวยการไอยูซีเอ็นระบุในแถลงการณ์ จำนวนชนิดพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปนั้นคือ “การเตือนอย่างชัดแจ้งว่าจะต้องเพิ่มความพยายามในการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน” และการอนุรักษ์จำเป็นต้องถูกควบรวมในทุกภาคส่วนของธุรกิจเพื่อรับมือภัยคุกคามในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการประมงที่ไม่ยั่งยืน การทำลายป่าเพื่อการเกษตร และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
ถอดความและเรียบเรียงจาก 31 species now extinct, according to ICUN’s Red List of endangered species