การทำเกษตรแบบปัจจุบัน ทำให้ “ผึ้ง” อ่อนแอลงได้อย่างไร

การทำเกษตรแบบปัจจุบัน ทำให้ “ผึ้ง” อ่อนแอลงได้อย่างไร

ผึ้งที่หาอาหารอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพืชน้อยจะได้รับจุลินทรีย์ที่มีความหลากหลายน้อยลง ทำให้ตัวของผึ้งนั้นเองมีความทนทานต่อโรคน้อยลงไปด้วย
.

นักวิจัยพบว่ารังผึ้งที่อยู่ใกล้กับแหล่งเกษตรกรรมหรือป่าไม้เชิงพาณิชย์นั้น แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของจุลินทรีย์ในรังที่ลดลงอย่างมากจากปกติเมื่อเทียบกับรังผึ้งปกติที่มีสุขภาพดี ในอีกด้านหนึ่งรังผึ้งที่อยู่ในป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายของพืชมาก ก็แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่มีมาก 

ผึ้งพวกนี้ได้รับจุลินทรีย์มาจากพืชที่มันไปผสมเกสร ยิ่งถ้ามีความหลากหลายของพืชเยอะ ก็จะมีความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่ผึ้งนำกลับมาที่รังเยอะเช่นกัน ในส่วนของฟาร์ม หรือป่าที่มนุษย์สร้างขึ้น และเป็นป่าเชิงเดี่ยวจะทำให้ความหลากหลายนั้นน้อยลง
.

จุลินทรีย์พวกนี้สำคัญกับผึ้งอย่างไร

นักวิจัยได้ค้นพบถึงความสำคัญของจุลินทรีย์พวกนี้คือ ผึ้งนำไปผสมกับเกสรดอกไม้แล้วจึงนำไปหมักเพื่อเป็นอาหารพิเศษสำหรับตัวอ่อนของผึ้ง เจ้าส่วนผสมนี้จะถือได้ว่าเป็นโภชนาการหลักของผึ้งเลยก็ได้ จุลินทรีย์ไม่ได้แค่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสารอาหาร แต่ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงต่อผึ้งงานที่ต้องออกไปนอกรัง และมีโอกาสจะได้รับเชื้อโรคมาแพร่ระบาดในรัง

นักวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างอาหารผึ้ง 29 รัง จาก 23 พื้นที่ ในส่วนทิศตะวันตกเฉียงเหนืองของประเทศอังกฤษ ด้วยการสกัด DNA จากผึ้งประมาณ 500 ตัว นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุถึงเชื้อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในแต่ละตัวอย่างได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลการใช้พื้นที่โดยรอบของแต่ละรังแล้ว นักวิจัยจึงสามารถสรุปได้ว่าสภาพพื้นที่นั้นมีผลต่อจุลินทรีย์ในแต่ละรังจริง ๆ

ก่อนหน้านี้เราคิดว่าการปลูกพืชเชิงเดี๋ยวนั้นส่งผลกระทบแค่ในด้านจำนวนอาหารของผึ้งลดลง แต่ผลจากงานนี้ชี้ให้เห็นชัดเลยว่ามันส่งผลต่อคุณภาพของอาหารด้วย และส่งผลกระทบไปจ่อสุขภาพของผึ้งแต่ละตัว ซึ่งกระทบต่อความยั่งยืนของสังคมผึ้งด้วย กลุ่มนักวิจัยที่ทำการศึกษาได้เขียนไว้ว่า “ในเมื่ออาหารผึ้งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการการต้านโรคของผึ้ง เราจึงเชื่อว่ามันอาจจะยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกจากสภาพแวดล้อมรอบรังผึ้งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผึ้ง” 

นักวิจัยรู้แล้วว่ายิ่งใกล้เขตเมืองความหลากหลายของพืชยิ่งต่ำ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานแพร่หลายว่าสวนชานเมืองเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของผึ้ง เราจึงต้องไปดูต่อในเรื่องของชนิดของพืชที่ชาวสวนเลือกปลูก สวนที่เต็มไปด้วยพืชต่างถิ่น อาจจะไม่เหมาะสมสักเท่าไรกับผึ้งในบริเวณนั้นที่มีการวิวัฒนาการมาสำหรับผสมเกสรพืชประจำถิ่น ดังนั้นมันจะเป็นการฉลาดถ้าชาวสวนที่ชอบในการปลูกพืชต่างถิ่นจะปลูกพืชท้องถิ่นแทรกเข้าไปบ้างในการล่อให้ผึ้งเข้ามาช่วยผสมเกสร

หรือว่าบางทีควรจะมีกฎให้ชาวไร่ชาวนานั้นปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกของตนเองให้มีความเหมาะสมต่อนักผสมเกสรทั้งหลาย เพื่อเป็นเหมือนประกันสุขภาพสำหรับพวกเขาเหล่านี้ที่ทำงานอย่างหนักหน่วงในแต่ละวัน เพื่อที่จะผสมเกสรให้กับผลผลิตทางการเกษตรของเรา รวมถึงผลิตน้ำผึ้งให้เราด้วย

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก How conventional agriculture could make bees less resistant to disease
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร