ป่าไม้อาจไม่เหลือถึงศตวรรษหน้า

ป่าไม้อาจไม่เหลือถึงศตวรรษหน้า

หากคุณต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลองซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วสังเกตพื้นที่เหนือประเทศเขตร้อนชื้นสิ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ผืนป่าฝนเขตร้อนปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาใต้ เอเชียใต้ รวมถึงแอฟริกา แต่ปัจจุบัน ผืนป่าดังกล่าวถูกแปรสภาพเป็นไร่ปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราขนาดมหึมา บางแห่งกลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มถั่วเหลือง ชุมชนเมือง เขื่อน หรือเป็นพื้นที่สัมปทานตัดไม้

มนุษย์หักร้างถางพงผืนป่าเป็นเวลาหลายพันปี ทั้งเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรหรือเพื่อนำไม้มาใช้สอย แต่ปัจจุบัน การตัดไม้ดังกล่าวเรียกได้ว่าการเปลี่ยนพื้นผิวทางกายภาพของโลก ทุกๆ ปี เราสูญเสียพื้นที่ป่า 112.5 ล้านไร่ หรือประมาณพื้นที่ของประเทศอังกฤษและเวลส์และในเวลา 40 ปี เราสูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 6.25 พันล้านไร่ เทียบเท่ากับพื้นที่ของสหภาพยุโรป

 

พื้นที่ป่าเขตร้อนกว่าครึ่งหนึ่งถูกโค่นลงภายในศตวรรษที่ผ่านมา การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดระบุว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบการตัดไม้รุนแรงในประเทศกัมพูชาและไลบีเรีย และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจสูญเสียพื้นที่ป่าภายใน 100 ปีข้างหน้า

 

ยิ่งป่าไม้ถูกทำลายเท่าไร โอกาสที่เราจะบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือพลิกสถานการณ์ก็ต่ำลง การตัดไม้ในเขตร้อนเป็นแหล่งปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจกสำคัญที่จะลอยในชั้นบรรยากาศและดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่าในอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝน และสภาพลมฟ้าอากาศทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศทั่วโลกเห็นตรงกันว่าการตัดไม้ทำลายป่าปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 12 ของการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เทียบเท่ากับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์และรถบรรทุก 1.2 พันล้านคัน การปกป้องผืนป่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ในผืนป่าขนาด 937.5 ล้านไร่ในประเทศคองโกเทียบเท่ากับการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกถึง 3 ปี

เมื่อผืนป่าถูกโค่นลง ผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบและจำเป็นต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าก็เผชิญกับความยากลำบาก หากไม่มีผืนป่า ประชาชนก็จะโยกย้ายสู่เมืองหรือประเทศที่ร่ำรวยกว่าเพื่อหางานทำ ป่าเขตร้อนของโลกจึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเป็นแหล่งอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน รายได้ และยารักษาโรคสำหรับประชากรกว่า 300 ล้านคน แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด

 

ป่าเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ณ ลุ่มน้ำคองโก / PHOTO : Hope Productions/Yann Arthus Bertrand / Getty Images/Getty Image

 

แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ? ข่าวดีก็คือหลายประเทศทั่วโลกได้ลงนามในข้อตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ เพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกและจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และเพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลไม่มีทางเลือกนอกจากจะยับยั้ง หรือป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า

ประเทศกำลังพัฒนากว่า 50 ประเทศซึ่งมีผืนป่าเขตร้อนของโลกต่างทราบถึงหน้าที่ของพวกเขา และสัญญาว่าจะล้มล้างกระบวนการตัดไม้ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม

บางประเทศแสดงความมุ่งมั่นอย่างมาก เช่น จีน บราซิล โบลิเวีย และคองโก ที่ร่วมกันระบุเป้าหมายว่าจะปกป้องผืนป่าขนาด 312.5 ล้านไร่ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยพื้นที่ดังกล่าวขนาดเท่ากับสเปน

ส่วนประเทศที่ปลดปล่อยคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลกอย่างอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 29 โดยหยุดการโค่นผืนป่าอย่างผิดกฎหมาย และฟื้นฟูพื้นที่ป่าประมาณ 75 ล้านไร่ ในขณะที่เอกวาดอร์วางแผนว่าจะฟื้นฟูป่าขนาด 3.12 ล้านไร่ภายในปี พ.ศ. 2560 และจะเพิ่มเป็น 6.24 ล้านไร่ต่อปี ส่วนฮอนดูรัสให้คำมั่นว่าจะปลูกและฟื้นฟูพื้นที่ป่า 6.25 ล้านไร่ภายในปี พ.ศ. 2573

หากทุกประเทศดำเนินการตามคำสัญญาและปล่อยให้ผืนป่าที่โดนทำร้ายมีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกต่อปีสามารถลดลงได้ถึงร้อยละ 24 – 30

ทั้งศาสตร์และทรัพยากรทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือการตัดไม้ทำลายป่านั้นมีอยู่พรั่งพร้อม แต่ก็ยังเผชิญข้อจำกัดเนื่องจากประเทศที่ดูแลพื้นที่ป่าเขตร้อนบางประเทศ คือประเทศที่ยากจนที่ต้องการการพัฒนา โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศตนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ คำสัญญาที่จะยับยั้ง หรือป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนจากประเทศพัมฯแล้วทั้งในด้านการเงินและด้านเทคนิค และยังเป็นความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้วในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ในฐานะที่ในอดีตคือผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศที่ร่ำรวยให้คำมั่นในข้อตกลงป่ารีสว่าจะระดมเงินทุนปีละ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อช่วยประเทศยากจนในการลดการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอน เงินบางส่วนในกองทุนนี้จะถูกนำไปใช้ปกป้องป่าเขตร้อน

นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติอย่าง นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries – REDD) ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายเงินให้กับประเทศที่ช่วยปกป้องผืนป่าตามราคาของคาร์บอนที่กักเก็บไว้ในป่าแต่ละแห่ง

ประเทศในเขตร้อนและบริเวณข้างเคียงสามารถรับเงินสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหากประสบความสำเร็จในการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากการไม่ตัดไม้ทำลายป่า แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังมีข้อถกเถียง เนื่องจากโครงการในระดับโลกมักจะเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชัน ดำเนินการยุ่งยาก และแทบจะวัดผลสำเร็จไม่ได้

แน่นอน เป้าหมายของการสนับสนุนเงินทุนนั้นเพื่อปกป้องผืนป่า แต่หากเงินนั้นกลายเป็นเงินอุดหนุนแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ล่ะ หรือเงินจำนวนนั้นอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เป็นได้

สิ่งเหล่านี้ต้องมีแนวทางป้องกัน แต่ประเทศเยอรมัน นอร์เวย์ และอังกฤษ ร่วมมือกันว่าจะสนับสนุนโครงการ REDD ปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจนกระทั้งปี พ.ศ. 2560 และธนาคารโลกก็มีแผนจะให้เงินในจำนวนเดียวกันเพื่อสนับสนุนการทำงานในทวีปแอฟริกา เงินที่เพิ่มเติมเข้ามานี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ต่อชาติพันธุ์ท้องถิ่นหรือชุมชนรอบผืนป่าอื่นๆ ที่เป็นผู้ปกป้องผืนป่ามาอย่างยาวนาน

ก่อนหน้าที่นานาประเทศจะบรรลุข้อตกลงปารีส การหยุดการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงเป็นงานที่ยากลำบาก แต่ก็มีกลไกทั้งทางการเมืองและการเงินที่จะช่วยสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจต่อทั้งประเทศ บริษัท และชุมชน เพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก We are destroying rainforests so quickly they may be gone in 100 years โดย John Vidal
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์