สถานะของป่าฝนขนาดใหญ่อย่างแอมะซอนในปัจจุบัน กำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่ไม่อาจย้อนคืนกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกแล้ว ซึ่งถือเป็นวิกฤตขั้นรุนแรงที่ขึ้นกับปอดของโลกมากกว่าครั้งไหน ๆ – ในรอบ 100,000 ปี ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์มาร์ค บุช จากสถาบันเทคโนโลยีฟลอริดา อธิบายว่า หากการเปลี่ยนแปลงยังดำเนินไปมากกว่านี้ ผืนป่าอันเขียวชอุ่มของแอมะซอนจะค่อย ๆ แปรสภาพกลายเป็น “ทุ่งหญ้า” ที่เหลือพันธุ์ไม้เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นในอนาคต
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อป่าฝนอันมากด้วยคุณอนันต์ของโลกแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์เราโดยตรง อย่างการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีการศึกษาอธิบายประกอบว่า พลังที่ผลักดันให้แอมะซอนมาถึงจุดนี้ได้ คือ ไฟป่า – ที่ไม่อาจควบคุมได้
ศาสตราจารย์บุช ได้ศึกษาย้อนถึงวิวัฒนาการของไฟป่าและพืชพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ของแอมะซอนจากฟอสซิลของเถ้าถ่านที่ตกตะกอนในทะเลสาบย้อนหลังไปหลายพันปี ทำให้พบว่า จริง ๆ แล้ว ไม่พบร่องรอยของไฟในป่าก่อนยุคมนุษย์จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในผืนป่าแห่งนี้
หรือในอดีต เมื่อราว 10,000 ปีก่อน มนุษย์ที่ตั้งรกรากในผืนป่าแอมะซอนช่วงยุคนั้น ได้ทำให้ป่าเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และมันก็อยู่ในระดับที่ป่าสามารถปรับตัวให้ฟื้นคืนสภาพได้ดังเดิม
อย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบัน ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (จากฝีมือมนุษย์) เป็นแรงผลักดันให้ป่ายิ่งแห้งแล้ง และอุณหภูมิก็ยิ่งสูงขึ้น เป็นองค์ประกอบสำคัญ
การเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าของไฟป่า (ที่รุนแรงขึ้น) และการตัดไม้ทำลายป่า ในท้ายที่สุดอาจสร้างเงื่อนไขให้พื้นที่ป่าฝนอันกว้างใหญ่ต้องเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
“ความหลากหลายทางชีวภาพอันยิ่งใหญ่ของป่าฝนตกอยู่ในความเสี่ยงจากไฟป่า” ศาสตราจารย์บุช กล่าว
เขาเน้นย้ำว่า แม้ตอนนี้ยังไม่มีรัฐบาลใดสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างสมบูรณ์ แต่สิ่งที่สามารถทำได้ทันที คือ การควบคุมการเกิดไฟป่าจากนโยบายการบริหารงานของรัฐบาล
ไฟเกือบทั้งหมดในแอมะซอนเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยเจตนา และเกิดบ่อยมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
จากการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่า แอมะซอนจะถึงจุดเปลี่ยนเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นอีก 2 – 3 องศาฟาเรนไฮต์
“ภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียวอาจกระตุ้นให้แอมะซอนเดินทางไปถึงจุดเปลี่ยนในช่วงกลางศตวรรษนี้ แต่หากนโยบายการดูแลรักษาป่า ยังเอื้อให้เกิดการทำลายป่า เราจะไปถึงจุดเปลี่ยนที่เร็วขึ้นกว่าเดิม”
“นอกเหนือจากการสูญเสียประชาการสัตว์ป่า ผลกระทบที่ลดลงจากการสูญเสียป่าฝนแอมะซอนจะทำให้ปริมาณน้ำฝนทั่วซีกโลกหนึ่งเปลี่ยนไป นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับโลก และสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงทางอาหารของเราทุกคน”
ข้อมูลฉบับเต็มของบทความนี้ ตีพิมพ์ในเอกสารรายงานเรื่อง Annals of the Missouri Botanical Garden
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม