วันสิ้นโลกมีกำหนดการใหม่คือปี พ.ศ. 2591 โดยปีดังกล่าวจะเป็นปีที่มหาสมุทรทั่วโลกไม่มีปลาหลงเหลืออยู่ การคาดการณ์ดังกล่าวมาจากงานวิจัยของนักนิเวศวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ โดยสาเหตุมาจากการประมงเกินขนาด มลภาวะ การสูญเสียที่อยู่อาศัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การศึกษาโดย Boris Worm จากมหาวิทยาลัย Dalhousie ร่วมกับเพื่อนนักวิจัยจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สวีเดน และปานามา ได้พยายามทำความเข้าใจว่าการสูญเสียชนิดพันธุ์ต่างๆ ในมหาสมุทรนั้นจะส่งผลอย่างไร
คณะวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ผลการศึกษาชิ้นนี้ทำให้แม้แต่นักนิเวศวิทยายังต้องตื่นตระหนก “ผมรู้สึกตกใจและไม่สบายใจอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นแนวโน้มที่ค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินคาดของใครหลายคน” Boris Worm ระบุในรายงาน “นี่ไม่ใช่การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน” Nicola Beaumont นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจาก Plymouth Marine Laboratory กล่าวเสริม “หากความหลากหลายทางชีวภาพยังคงมีแนวโน้มลดลง สิ่งแวดล้อมทางทะเลคงไม่สามารถช่วยสนับสนุนวิถีชีวิตของเราได้อีกต่อไป”
ปัจจุบันนี้ ชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลซึ่งรับประทานได้ร้อยละ 29 มีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 90 การลดลงที่หมายถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมประมง แต่ปัญหาอาจไม่ได้จบที่โต๊ะอาหาร สัตว์ทะเลทำหน้าที่กรองมลภาวะออกจากน้ำ ช่วยปกป้องชายฝั่ง และลดความเสี่ยงการเกิดแอลจีบลูม (Algae Bloom) หรือการขยายพันธุ์ของสาหร่ายในระดับที่ผิดปกติ เช่น ปรากฎการณ์คลื่นสีแดง (Red Tide)
“ประชากรโลกมีสัดส่วนอยู่อาศัยที่ชายฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การสูญเสียนิเวศบริการ เช่น การควบคุมน้ำท่วม หรือการกรองมลภาวะจากระบบนิเวศเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” Boris Worm และคณะวิจัยแสดงความเห็น
คณะวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 32 ฉากทัศน์ในระบบนิเวศทางทะเลที่แตกต่างกันออกไป แล้วจึงวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 1,000 ปีของภูมิภาคชายฝั่งทั่วโลก ต่อด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมประมงจากระบบนิเวศทางทะเล 64 ระบบนิเวศ แล้วจบด้วยการศึกษาข้อมูลการฟื้นตัวของพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล
ข้อสรุปที่ได้คือ ทุกชีวิตในมหาสมุทรมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกชีวิตอยู่รอด และพื้นที่มหาสมุทรที่มีชนิดพันธุ์หลากหลายมากที่สุดก็สะท้อนสุขภาพที่ดีเช่นเดียวกัน แต่การสูญเสียดังกล่าวไม่ได้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มในอัตราเร่ง
สิ่งที่คณะวิจัยเรียกร้องคือ การประมงอย่างยั่งยืน การควบคุมมลภาวะ การฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย และการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลเพิ่มเติม โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ควรมองว่าเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย แต่นี่คือการลงทุนที่จะส่งผลในอนาคต เช่น การลดราคาการประกันภัย ประคองอุตสาหกรรมประมง ลดจำนวนภัยพิบัติ ช่วยสนับสนุนสุขภาพที่ดีของมนุษย์ เป็นต้น
“ยังไม่สายเกินไปหากเราเริ่มวันนี้” Boris Wormกล่าว “มีเพียงพื้นที่ทางทะเลเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ”
งานวิจัยของเขาและคณะเผยแพร่ทางวารสาร Science