รายงาน “ปลาที่โลกลืม (The World’s Forgotten Fishes)” ระบุว่าปลาน้ำจืดกว่า 80 ชนิดพันธุ์ได้สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ โดยที่ 16 ชนิดพันธุ์ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ภายในปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียวเท่านั้น
ประชากรปลาน้ำจืดที่ต้องอพยพลดลงกว่า 3 ใน 7 นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1970s ขณะที่ประชากรของปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 27 กิโลกรัมมีปริมาณลดลงในระดับ ‘หายนะ’ คือราว 94 เปอร์เซ็นต์
ปลาน้ำจืดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศแม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งประชากรหลายล้านคนทั่วโลกต่างต้องพึ่งพาปลาน้ำจืดเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีพ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชาติพันธุ์ รายงานดังกล่าวได้สรุปว่าการลดลงของปลาน้ำจืดในอัตราที่น่ากังวลย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) และองค์การอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลก (Global Wildlife Conservation) แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันต่อประชากรปลาน้ำจืดทั่วโลกจากภัยคุกคามต่างๆ ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรม การก่อสร้างเขื่อน และผันน้ำและทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ มลภาวะ การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อาชญากรรมสัตว์ป่า และความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการวิเคราะห์สถานะของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดกว่า 10,000 ชนิดและพบว่ากว่า 30 เปอร์เซ็นต์จัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
การศึกษาชิ้นนี้มองว่าปลาน้ำจืดถูก “ด้อยค่า” โดยสจวร์ต ออร์ (Stuart Orr) จาก WWF แสดงความเห็นว่าปลาน้ำจืดมักถูกมองข้ามในการถกเถียงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงการพัฒนาทั่วโลก
“ผมคิดว่ารายงานฉบับนี้ที่มีองค์กรทำงานร่วมกันกว่า 16 แห่งมีจุดประสงค์หนึ่งเพื่อเน้นย้ำความอัศจรรย์ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืด อีกทั้งย้ำเตือนคนทั่วไปว่าชนิดพันธุ์เหล่านี้ที่กำลังลดจำนวนลงเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิต อาชีพ และวัฒนธรรม” สจวร์ต ออร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC
“หากเรากำลังมองไปข้างหน้าเพื่อปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องอภิปรายกับรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราต้องพูดถึงการจัดการพื้นที่น้ำจืด” เขากล่าวเสริม
การศึกษาชิ้นนี้เรียกร้องให้มีแผนฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนให้แหล่งน้ำจืดกลับมามีสภาพสมบูรณ์เช่นเหมือนหลายทศวรรษก่อน รวมถึงการคุ้มครองและรื้อฟื้นการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำ แหล่งอาศัยที่สำคัญ และการแก้ไขปัญหาการประมงเกินขนาด
สจวร์ตมองว่า การประชุมสหประชาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่จะจัดในประเทศจีนในปีนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลทั่วโลกจะพูดคุยกันถึงวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำจืดซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างผืนป่าและมหาสมุทร
ถอดความและเรียบเรียงจาก Extinction threatens third of freshwater fish species, report finds
ภาพเปิดเรื่อง © Camilo Díaz / WWF Colombia
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก