ภาครัฐไทยจำเป็นต้องขนส่งน้ำดื่มเข้าไปยังบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และเรียกร้องให้ประชาชนอาบน้ำน้อยลงภายใต้สถานการณ์ภัยแล้งที่เลวร้ายและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะความเค็มที่รุกคืบ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศกล่าวว่า ภาวะ น้ำเค็มรุก เป็นความเสี่ยงที่หลายเมืองในเอเชียต้องเผชิญ
การประปานครหลวงแถลงว่าน้ำประปาในเมืองหลวงจะมีความเค็มมากขึ้นเนื่องจากน้ำทะเลที่ดันเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับน้ำค่อนข้างน้อย แม่น้ำดังกล่าวถือว่าเป็นแหล่งน้ำหลักของการใช้น้ำในภาคกลาง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีการเรียกร้องให้สาธารณชนประหยัดน้ำโดยการใช้เวลาอาบน้ำน้อยลง
เรื่องราวอาจเลวร้ายกว่าที่คิด เพราะปกติหน้าแล้งของไทยจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนและจบลงราวเดือนเมษายน แต่ปีนี้รัฐบาลไทยได้ระบุว่าหน้าแล้งอาจยาวนานถึงเดือนมิถุนายน ขณะที่ต้องนี้ได้มีการประกาศภัยแล้งใน 14 จังหวัด
ภัยแล้งยิ่งทำให้ปัญหาน้ำเค็มรุกคืบเลวร้ายลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำการเกษตรและสุขภาพเนื่องจากน้ำดื่มมีการปนเปื้อน ศุภกร ชินวรรโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์แสดงความเห็น “ปัญหานี้จะร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อน้ำเค็มรุกคืบเข้ามามากขึ้นในแผ่นดินและก่อนฤดูกาล” เขาให้สัมถาษณ์กับ Thomson Reuters Foundation “มันจะส่งผลอย่างมากต่อการเกษตรในภูมิภาคเนื่องจากข้าวเป็นพืชที่อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อน้ำ” เขาสรุป
เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งมุมไป เซียงไฮ กรุงเทพฯ โฮจิมินฮ์ และจาการ์ตา ต่างก็เป็นเมืองชายฝั่งที่ค่อนข้างต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้เมืองเหล่านี้อ่อนไหลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วที่อาจเกิดบ่อยครั้งขึ้น รวมถึงพายุไซโคลนที่มีความรุนแรง
ประเทศอินโดนีเซียวางแผนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะบอร์เนียว เนื่องจากจาร์กาตาซึ่งอยู่ชายฝั่งทางเหนือของเกาะชวากำลังจมลงอย่างช้า ๆ และเผชิญกับอุทกภัยบ่อยครั้ง เมืองใหญ่หลายแห่งซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำต่างก็ต้องเผชิญกับการรุกคืบของน้ำเค็มบ่อยครั้งขึ้น ไดแอน อาร์เชอร์ (Diane Archer) นักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มระบุ
“ข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นหมายความว่าปัญหานี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ เมื่อน้ำทะเลจะรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำและแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งซึ่งน้ำหน้าดินมีปริมาณน้อยลง” เธอกล่าว “กรุงเทพฯ ต้องควบคุมการขุดเจาะน้ำบาดาลในขณะเดียวกันก็เผชิญกับปัญหาการทรุด ทำให้เมืองเปราะบางต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หากน้ำทะเลยังเพิ่มสูงขึ้นอีกก็มีแนวโน้มอย่างยิ่งว่าความเค็มจะกลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล”
อาร์เชอร์ระบุเพิ่มเติมว่า พื้นที่อื่นในลุ่มน้ำโขง การรุกล้ำของน้ำเค็มได้กลายเป็นปัญหาไปแล้ว เช่น บางเมืองของเวียดนามมีการเฝ้าระวังระดับความเค็มและแจ้งเตือนเกษตรกรว่าน้ำในแม่น้ำปลอดภัยต่อการนำไปใช้หรือไม่
“เกษตรกรอาจต้องปรับตัวไปปลูกพืชที่ทนต่อระดับน้ำที่กร่อยมากขึ้น” เธอกล่าวสรุป
ถอดความและเรียบเรียงจาก Salty water in Bangkok is new ‘reality’ as sea pushes farther inland
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง : www.freepik.com