นักวิทยาศาสตร์ชี้ อุณหภูมิโลกปัจจุบันสูงที่สุดในรอบ 12,000 ปี

นักวิทยาศาสตร์ชี้ อุณหภูมิโลกปัจจุบันสูงที่สุดในรอบ 12,000 ปี

การวิเคราะห์อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศจากกิจกรรมของมนุษย์นั้นทำให้โลกเข้าสู่ภาวะที่ไม่เคยพบมาก่อน งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature สรุปว่า โลกในปัจจุบันอาจร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี อย่างไรก็ดี นักวิจัยระบุว่าข้อมูลที่ย้อนกลับไปในอดีตที่ยาวไกลนั้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวคลายปัญหาที่สลับซับซ้อนชื่อว่า ‘ปริศนาอุณหภูมิยุคโฮโลซีน’ แบบจำลองภูมิอากาศพบว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อราว 12,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโฮโลซีน แต่ผลสำรวจจากตัวอย่างฟอสซิลกลับพบว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อ 6,000 ปีก่อนแล้วค่อย ๆ เย็นตัวลงก่อนจะเพิ่มอีกครั้งหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนในภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความย้อนแย้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เชื่อมั่นกับแบบจำลองภูมิอากาศ และข้อมูลจากหลักฐานฟอสซิลเปลือกหอย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสะท้อนเฉพาะฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูง แต่กลับไม่สะท้อนฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำผิดปกติ ส่งผลให้การประมาณการอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอาจมีความผิดพลาด

“เราแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อ 12,000 ปีก่อน นั่นหมายความว่ากิจกรรมขอมนุษย์เป็นปัจจัยเร่งให้โลกร้อนเร็วยิ่งขึ้น ทำให้โลกเข้าสู่ภาวะที่ไม่เคยพบมาก่อน นับเป็นจุดวิกฤติที่เราต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง” Samantha Bova จาก Rutgers University ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักของงานชิ้นนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีประมาณการอุณหภูมิจากองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกหอยขนาดเล็กและสาหร่ายที่พบในตะกอนใต้มหาสมุทร และใช้ข้อมูลดังกล่าวไขปริศนาโดยพิจารณาสองปัจจัย ประกอบด้วย

ปัจจัยแรก เปลือกหอยและสารอินทรีย์มักถูกตั้งสมมติฐานว่าสามารถเป็นตัวแทนของข้อมูลทั้งปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว สารดังกล่าวมักจะก่อรูปในช่วงฤดูร้อนที่มีอาหารปริมาณมาก ปัจจัยที่สองคือวงจรธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เนื่องจากความผิดปกติจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ การเปลี่ยนแปลงวงโคจรดังกล่าวจะส่งผลให้ช่วงฤดูร้อนจะร้อนขึ้น และฤดูหนาวหนาวยิ่งขึ้น แต่อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีใกล้เคียงเดิม

หากพิจารณาทั้งสองปัจจัย จะสามารถสรุปได้ว่าการที่อุณหภูมิโลกลดต่ำลงหลังจากช่วงเวลาที่โลกร้อนที่สุดเมื่อ 6,000 ปีก่อน ซึ่งพบจากฟอสซิลเปลือกหอยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเปลือกหอยดังกล่าวบันทึกเฉพาะอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนที่ค่อย ๆ ลดลง ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกลับค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแบบจำลอง

“หากพิจารณาทั้งสองปัจจัย จะพบว่าทั้งแบบจำลองและข้อมูลจากฟอสซิลนั้นสอดคล้องกันอย่างยิ่ง นั่นทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าแบบจำลองภูมิอากาศของเรานั้นใช้การได้ดี” Samantha Bova กล่าว

แม้ว่าการศึกษาชิ้นนี้จะพิจารณาเฉพาะอุณหภูมิของมหาสมุทร แต่ Bova กล่าวว่า “อุณหภูมิของพื้นผิวมหาสมุทรนั้นคือกลไกสำคัญที่ควบคุมผลกระทบของสภาพภูมิอากาศต่อโลก นี่จึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุด” เธอยังเป็นผู้นำทีมวิจัยบริเวณชายฝั่งของประเทศชิลีเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเก็บตัวอย่างตะกอนมหาสมุทรสำหรับเสริมชุดข้อมูลที่มีอยู่ก่อนหน้า

Jennifer Hertzberg จาก Texas A&M University ในสหรัฐอเมริกาแสดงความเห็นว่า “การไขปริศนาที่สร้างความงุนงงสงสัยแก่นักวิทยาศาสต์ภูมิอากาศมานานหลายปีนั้น นับเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน”

ระดับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันนั้น สูงที่สุดในรอบ 4 ล้านปีและมีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 66 ล้านปี อุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่ว่าเราจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิให้เหลือเท่ากับศูนย์


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate crisis: world is at its hottest for at least 12,000 years – study

 

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก