ในโลกที่อุณหภูมิกำลังอุ่นขึ้น แต่บางพื้นที่มีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าพื้นที่อื่น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้น้ำแข็งขนาดใหญ่เริ่มละลาย เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว และบางครั้งอาจไหลลงสู่มหาสมุทร การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นหัวข้อวิจัยล่าสุดของผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters ทวีปอาร์กติกนั้นมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงกว่าบริเวณอื่นในโลก ส่งผลให้น้ำแข็งในบริเวณดังกล่าวเริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ข้อเท็จจริงนี้มีผลกระทบกระเทือนร้ายแรง
ข้อแรก น้ำแข็งที่ละลายย่อมทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และท่วมถึงพื้นที่ชายฝั่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้พายุเฮอร์ริเคนหรือไต้ฝุ่นมีกำลังรุนแรงมากขึ้น การเริ่มละลายของน้ำแข็งยังทำให้เกิดวงจรที่จะทำให้น้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้น และอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นในอนาคต
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำแข็งมีอยู่หลากหลายประเภท น้ำแข็งบางประเภทลอยอยู่ในมหาสมุทร เราเรียกว่า “น้ำแข็งทะเล (sea ice)” เมื่อน้ำแข็งประเภทนี้ละลาย ก็แทบไม่ส่งผลต่อระดับน้ำในมหาสมุทรเนื่องจากน้ำแข็งดังกล่าวเพียงเปลี่ยนสภาพจากของแข็งเป็นของเหลว แต่น้ำแข็งทะเลเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการละลายในอนาคต
น้ำแข็งอื่นๆ ที่อยู่ในแผ่นดิน อาจจะเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ หรือธารน้ำแข็งขนาดเล็ก น้ำแข็งประเภทนี้จะอยู่บนแผ่นดิน หรืออาจมีบางส่วนที่ยื่นออกไปในมหาสมุทรและลอยอยู่บนน้ำ หากน้ำแข็งประเภทนี้ละลาย ย่อมส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลอย่างมีนัยสำคัญ
ความสำคัญของน้ำแข็งจึงขึ้นอยู่กับประเภทน้ำแข็ง พื้นที่ที่พบ และความเร็วในการละลาย ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่งานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาประเภทของธารน้ำแข็งซึ่งอยู่บนที่ราบสูง ธารน้ำแข็งนั้นมีปริมาณมากพอที่จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นราว 30 เซนติเมตร ปกติแล้ว เราจะพบธารน้ำแข็งในพื้นที่ที่แห้งและหนาวเย็น ซึ่งไม่ค่อยมีหิมะ
ส่วนคำถามที่ว่าธารน้ำแข็งเคลื่อนไหวอย่างไร คำตอบก็คือ ธารน้ำแข็งจะไถลไปตามพื้นผิวที่มันอยู่ หรืออาจเปลี่ยนรูปร่างลักษณะและขยายออกไปตามน้ำหนัก ซึ่งการไหลลักษณะนี้มักพบในธารน้ำแข็งที่อยู่ในบริเวณหนาวจัด อย่างไรก็ดี ไม่ว่าธารน้ำแข็งจะไหลไปอย่างไร งานวิจัยชิ้นนี้ระบุถึงการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ของธารน้ำแข็ง เมื่อเกิดภาวะอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ โดยพบการเคลื่อนไหวดังกล่าวในธารน้ำแข็ง Valivov ประเทศรัสเซีย “ธารน้ำแข็งดังกล่าวกำลังเคลื่อนที่ในอัตราเร่งและบางลงอย่างมาก โดยไม่พบหลักฐานก่อนหน้านี้ถึงการเคลื่อนไหวในรูปแบบดังกล่าว”
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2553 เป็นครั้งแรกที่ธารน้ำแข็งเริ่มเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว และเกิดรอยแตกจนแยกธารน้ำแข็งดั้งเดิมออกเป็นสองส่วน คณะวิจัยติดตามการเคลื่อนไหวของธารน้ำแข็งดังกล่าวด้วยภาพถ่ายดาวเทียม และพบอัตราการไหลที่รวดเร็วอย่างน่าตกใจ อย่างไรก็ดี สาเหตุของการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งก็ยังไม่มีข้อสรุป
การศึกษาเรื่องการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งยังเป็นเรื่องที่ใหม่อย่างมาก มีสมมติฐานมากมาย เช่น การเคลื่อนที่ดังกล่าวเกิดจากน้ำแข็งส่วนล่างที่ละลายและลดแรงเสียดทานระหว่างธารน้ำแข็งและพื้นดิน หรืออาจมีพลังงานที่อยู่ในธารน้ำแข็งเองที่ให้ความเร็วของธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้น
กรณีของธารน้ำแข็ง Valivov ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ โดยนักวิจัยพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีอัตราการละลายของน้ำแข็งสูงอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2558 พบว่าธารน้ำแข็งดังกล่าวเคลื่อนที่ถึง 25 เมตรในหนึ่งวัน ส่วนปัจจุบันจะเฉลี่ยที่ 5 ถึง 10 เมตรต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงมากหากเทียบกับอัตราการเคลื่อนไหวของธารน้ำแข็งปกติซึ่งอยู่ที่ 5 เซนติเมตรต่อวัน
งานวิจัยชิ้นนี้เปลี่ยนความคิดดั้งเดิมที่ว่าน้ำแข็งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างช้าๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่ง การเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งก็จะเร็วขึ้นอย่างมาก นี่คือเหตุผลที่การลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเรื่องที่เร่งด่วน