ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ของโลก 60 แห่ง ได้ทุ่มเงินมากถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
โดยธนาคารต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ บริษัท น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินในปี 2563 มากกว่าที่เคยให้ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศต่างๆ ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เพื่อให้อุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
รายงานระบุว่า การจัดหาเงินทุนโดยรวมลดลง 9% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 กลับมีการจัดหาเงินทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับสูงสุดในรอบครึ่งปีนับตั้งแต่มีข้อตกลงปารีส
ในรายงานซึ่งจัดทำโดย Rainforest Action Network, Sierra Club, เครือข่ายสิ่งแวดล้อมด้านชนพื้นเมือง และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายกลุ่ม ได้กล่าวเตือนไปยังธนาคารในรายงานถึงการทุ่มเงิน 3.8 ล้านล้านดอลลาร์ให้แก่เชื้อเพลิงฟอสซิลว่าเป็นวิถีการเงินที่เดินไปในทางผิด
รายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อและการจำหน่ายหลักทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ 60 แห่งทั่วโลก อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg และแหล่งข้อมูลอื่นๆ รวมถึงรายงาน Global Coal Exit ของ Urgewald (องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร)
Ben Cushing ผู้จัดการฝ่ายระดมทุนของ Sierra Club (องค์กรสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา) กล่าวว่า ธนาคารรายใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง – ธนาคารของสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้เกิดวิกฤตสภาพอากาศผ่านการทุ่มเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลตัวการก่อวิกฤต
.
.
JPMorgan Chase ธนาคารด้านการลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐ ที่เรียกปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสว่า “วิกฤตในยุคของเรา” ถือเป็นธนาคารที่ปล่อยเงินให้กับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุด
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ธนาคารได้ปล่อยเงินให้กับบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลไปทั้งสิ้น 317 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปี 2563 ได้ให้เงินลงทุนไป 51.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ราว 20% แต่ก็ยังถือว่าเป็นธนาคารที่ปล่อยเงินสูงที่สุดอยู่ดี
Citigroup ถูกจัดเป็นอันดับสอง โดยให้เงินลงทุน 5 ปี รวม 237.5 พันล้านดอลลาร์
แม้ผู้ให้เงินทุนรายใหญ่จะเป็นธนาคารในสหรัฐฯแต่ธนาคารในทวีปยุโรปก็มีส่วนในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส ซึ่งเคยให้คำมั่นว่าจะเป็นผู้นำด้านกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้จัดหาเงินทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลมูลค่า 40.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 41% จากปีก่อนหน้า ตั้งแต่ปี 2559 การจัดหาเงินทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของธนาคารเพิ่มขึ้น 142%
โฆษกของ BNP Paribas กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจต้องการความช่วยเหลือ และ BNP Paribas ก็เหมือนกับธนาคารอื่นๆ ที่มีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพที่สำคัญนี้… อย่างไรก็ตาม BNP Paribas สนับสนุนภาคน้ำมัน และก๊าซในระดับที่ต่ำกว่ากิจกรรมอื่นๆ – โฆษกชี้ให้เห็นถึงนโยบายของธนาคารที่จำกัดการจัดหาเงินทุนที่ไม่ได้ไปกระจุกอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงด้านเดียว
ในรายงานตรวจสอบยังพบรายละเอียดที่หลากหลาย เช่น มีการจัดหาเงินทุนให้กับบริษัทชั้นนำ 35 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับทรายน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จากการสกัดและแปรรูป ในส่วนนี้พบว่าเงินลงทุนลดลง 27% ตั้งแต่ปี 2562 เหลือเงินลงทุน 16,000 ล้านดอลลาร์
แต่การจัดหาเงินทุนสำหรับการขุดถ่านหินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 เป็น 25.4 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 25% ตั้งแต่ปี 2559 และส่วนใหญ่มาจากธนาคารของจีน แม้จะมีคำเตือนจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติว่าโลกต้องเลิกใช้ถ่านหินอย่างเบ็ดเสร็จภายในปี 2593 ถึงจะรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาได้สำเร็จ
รายงานยังวิเคราะห์นโยบายด้านการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของธนาคารแต่ละแห่ง พบว่า หลายธนาคารจำกัดการจัดหาเงินทุนให้กับบริษัทถ่านหิน แต่ในรายงานได้สะท้อนความเห็นว่าส่วนใหญ่ยังเป็นนโยบายที่มีความคลุมเครือ
ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งยังให้คำมั่นว่าจะไม่ให้เงินสนับสนุนการขุดเจาะในอาร์กติก นั่นก็เพราะต่างทราบดีว่าโครงการจะต้องถูกต่อต้านจากกลุ่มชนพื้นเมือง
อย่างไรก็ตาม ในรายงานชี้ว่าเรื่องนี้ยังพอมีความหวังจากสัญญาณบวกของข้อผูกพันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ที่ธนาคารต่างๆ ให้คำมั่นว่าจะปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 นโยบายเหล่านี้ถือเป็น “เครื่องมือที่ทรงพลัง” แต่มันอาจไร้ความหมาย หากไม่เริ่มดำเนินการในทันที
อ้างอิง Big Banks Are ‘Fueling Climate Chaos’ By Pouring Trillions Into Oil, Gas And Coal
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม