ประเทศเวียดนาม ถือเป็นเส้นทางซื้อขาย ‘นอแรด’ ผิดกฎหมายรายใหญ่ของโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลดลงของประชากรแรดในป่า มีการคาดการณ์ว่าเมื่อปีที่ผ่านมาแรดในแอฟริกาถูกล่ามากถึง 1,100 ตัว ขณะที่ปัจจุบันจำนวนประชากรแรดทั้งโลกเหลืออยู่ประมาณเพียง 29,500 ตัว
ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาความต้องการนอแรดของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยในปี 2558 รัฐบาลได้เพิ่มบทลงโทษต่อการซื้อขายนอแรด และหน่วยงานอนุรักษ์เองก็ออกมารณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนต่อสถานการณ์อันวิกฤตของแรดในแอฟริกา และสรรพคุณทางยาที่ไม่มีอยู่จริง
และเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมนอแรดถึงเป็นที่ต้องการมากในประเทศเวียดนาม โดยในการศึกษานั้น [Understanding utilitarian and hedonic values determining the demand for rhino horn in Vietnam] ผู้ศึกษาได้ทำการสัมภาษณ์ประชาชนที่รับยอมรับว่าเคยซื้อนอแรดเพื่อนำไปตอบสนองต่อความต้องการบางอย่าง
โดยในการศึกษาพบว่า มีความต้องการนอแรดไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นยารักษาโรคและใช้แสดงสัญลักษณ์ทางสถานะ
ขณะเดียวกันยังพบอีกว่าผู้บริโภคมีความต้องการนอแรดจากแรดในป่ามากกว่าแรดที่ถูกเพาะเลี้ยง และผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าความต้องการใช้ประโยชน์จากนอแรดเป็นสิ่งที่ผิด หรือมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนประชากรของแรดที่กำลังลดลง
การศึกษาครั้งนี้อาจสรุปได้ว่า แนวโน้มความต้องการนอแรดของผู้คนจะยังไม่ลดลงเพราะต่างมีความเชื่อมั่นในสรรพคุณของนอแรดอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้นผลของการศึกษาจึงถูกคาดหวังว่าจะนำไปสู่การปรับโฟกัสแคมเปญเนื้อหาการอนุรักษ์แรดในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานและค่านิยมที่พบ
นอแรดช่วยรักษาสุขภาพและเสริมความมั่งคั่ง ?
งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์คนจำนวน 30 คน ที่ยอมรับว่าเคยใช้นอแรด และหนึ่งในนั้นเคยเป็นผู้ค้านอแรด โดยคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีรายได้สูง อาศัยอยู่ในกรุงฮานอยเมืองหลวงของประเทศเวียดนาม
ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า พวกเขาใช้นอแรดเพื่อรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่อาการเมาค้าง ไข้ โรคเกาต์ ใช้บรรเทาโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง บางคนมอบนอแรดให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อเป็นการปลอบใจ และแสดงความรู้สึกว่าพวกเขาสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย
คำตอบของเรื่องนี้ถือเป็นการยืนยันความเชื่อว่านอแรดสามารถรักษาโรคได้ร้อยแปดพันเก้าเป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกในความคิดของคนเวียดนาม
นอกจากนี้นอแรดยังถือเป็นเครื่องแสดงสัญลักษณ์ทางฐานะ ผู้บริโภคกล่าว่า พวกเขาแสดงมันในเครือข่ายสังคมและอาชีพเพื่อบอกถึงความมั่งคั่งและใช้กระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
นอแรด คือ ความอัปยศ ?
จากการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าการซื้อนอแรดเป็นเรื่องแย่หรือทำให้พวกเขามีความผิด อีกทั้งยังไม่รู้สึกกังวลใดใดต่อชะตากรรมของแรดที่เหลืออยู่ การฆ่าแรดเพื่อเอานอในป่าแอฟริกาถูกมองว่าเป็นปัญหาที่ไกลตัว และพวกเขาก็ไม่ใช่คนที่ลงมือฆ่าแรดด้วยตัวเขาเอง
ที่สำคัญผู้ซื้อไม่ได้มีความเกรงกลัวว่ากำลังกระทำผิดกฎหมาย แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญาของประเทศเวียดนามจะห้ามมิให้มีการซื้อขายนอแรด แต่ผู้บริโภคที่ให้ข้อมูลต่างเชื่อว่าตำรวจคงไม่ให้ความสนใจกับการจับผู้ซื้อสักเท่าไหร่ และคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นมุ่งเน้นไปที่การค้าในปริมาณมากๆ ซึ่งพวกเขาไม่ใช่คนกลุ่มนั้น
ทางฟากของพ่อค้าเองก็ไม่รู้สึกกังวลในประเด็นกฎหมายเช่นนั้น ด้วยเหตุผลว่ากำไรที่จะได้รับนั้นมีมูลค่าสูงเหนือความเสี่ยงใดๆ ที่จะต้องเผชิญ
การประชาสัมพันธ์ไม่เป็นผล ?
ผลของการศึกษาทำให้ทราบว่าทำไมแคมเปญรณรงค์ในปัจจุบันถึงไม่ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาการรณรงค์มักเน้นไปที่ชะตากรรมของแรด การบอกว่านอแรดไม่มีคุณสมบัติทางยา ผลของการซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย
แต่จากผลการศึกษาสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ที่ซื้อนอแรดไม่ได้สนใจข้อโต้แย้งใดใดที่มาจากการรณรงค์เลย
นอกจากนี้ยังทราบอีกว่า ผู้บริโภคต้องการนอแรดที่มาจากป่า ซึ่งหมายถึงข้อเสนอที่ต้องการให้นอแรดเป็นสินค้าถูกกฎหมายเพื่อควบคุมจะสามารถลดการล่าแรดลงได้นั้นคงไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะผู้บริโภคยังคงต้องการนอแรดที่มาจากการล่า
ผู้ทำการวิจัยเรื่องนี้คาดหวังว่าข้อมูลเชิงลึกที่ได้นั้นจะนำไปสู่การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีคำอธิบายถึงค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับนอแรดเพิ่มมากยิ่งขึ้น และมีรูปแบบการรณรงค์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น