ประเทศออสเตรเลียกำลังทำสงครามกับแมวจรจัด – โดยรัฐบาลออสเตรเลียมีแผนกำจัดแมวจำนวน 2 ล้านตัว ภายในปี ค.ศ. 2020 จากจำนวนแมวจรจัดทั้งหมดซึ่งคาดว่ามีมากถึงประมาณ 2-6 ล้านตัว
ล่าสุดทางการออสเตรเลียได้ดำเนินตามโรดแมปโดยใช้วิธีการวางยาเบื่อที่ใช้สารพิษจากธรรมชาติและจะไม่ส่งผลต่อสัตว์ท้องถิ่นใส่ในไส้กรอกแล้วนำไปให้พวกมันกิน
ขณะที่บางรัฐของออสเตรเลียได้ออกมาตรการแจกเงินรางวัลให้แก่ประชาชนที่สามารถล่าแมวจรจัดและนำหนังหัวมาแสดงให้เห็น แน่นอนว่าทางฝั่งของกลุ่มคนรักสัตว์อย่างองค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA ได้ออกมาวิพากษ์นโยบายนี้อย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายเกินไป
นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะออสเตรเลียหรือเปล่า ?
ประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ก็มีปัญหาเกี่ยวกับแมวเช่นกัน นักสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งได้ออกมาเสนอว่า อนาคตของทั้งสองประเทศนี้จะต้องไม่มีแมว และแมวป่าจะต้องถูกควบคุมหรือจำกัดจำนวนให้น้อยลง
เหตุใดคนในภูมิภาคนี้ถึงไม่ชอบแมวกันนัก ?
คำตอบนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะแมว โดยเฉพาะแมวจรจัดคือนักฆ่าฝีมือฉกาจนั่นเอง
แมวเหล่าเติบโตท่ามกลางป่าเขา พวกมันจึงพัฒนาตัวเองให้มีสัญชาตญาณการเป็นนักล่าอย่างเต็มตัวเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติ ถึงแม้ว่าหากไปดูที่สายพันธุ์แล้วก็แทบจะแมวบ้านธรรมดา
คาดกันว่าแมวเดินทางมาถึงประเทศออสเตรเลียครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 17 นับแต่นั้นพวกแมวก็เริ่มขยายเผ่าพันธุ์จนในตอนนี้คาดว่ามีแมวกระจายอยู่แทบจะทั่วทุกพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 99.8% ของประเทศ
Gregory Andrews กรรมาธิการด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ กล่าวว่า แมวจรจัดถือเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของเมืองออสเตรเลีย ซึ่งพวกมันได้ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 20 สายพันธุ์
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะตัดขาดจากโลกภายนอกเป็นเวลานานหลายพันปี สัตว์จึงมีวิวัฒนาการแตกต่างจากที่อื่นๆ จากการสำรวจออสเตรเลียมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณร้อยละ 80 และมีนกประมาณร้อยละ 45 เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่ไม่พบในที่ไหนบนโลกอีก
จากการศึกษาผลกระทบของแมวที่มีต่อสัตว์พื้นถิ่นได้มีการสรุปออกมาว่า ในแต่ละวันแมวจรจัดทั่วออสเตรเลียสามารถล่านกพื้นเมืองกว่า 1 ล้านตัว และสัตว์เลื้อยคล่านอีกราว 1.7 ล้านตัว
“เราไม่ได้กำจัดแมวเพราะเราเกลียดแมว แต่เราต้องตัดสินใจเลือกช่วยสัตว์ที่บ่งบอกถึงความเป็นประเทศของเรา” Gregory Andrews กล่าว
ในมุมมองที่ต่างออกไป Tim Doherty นักนิเวศวิทยา จาก Deakin University ในประเทศออสเตรเลีย อธิบายว่า แผนการกำจัดแมวซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 นั้น เดิมทีเราไม่รู้ว่ามีแมวจรจัดอยู่มากเท่าไหร่กันแน่ และตัวเลขที่นำมาประเมิณในตอนนั้นคือ 18 ล้านตัว ซึ่งเป็นยอดที่อยู่สูงกว่าการประมาณการ
นอกจากนี้ Tim Doherty ยังกล่าวอีกว่า หากเราต้องการที่จะตั้งเป้าหมาย คุณก็ต้องมีตัวชี้วัดให้ได้ด้วยว่า สิ่งที่ทำไปมันให้ผลเช่นไร ซึ่ง Tim Doherty สรุปว่า การรักษานกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่จำเป็นต้องจะต้องฆ่าแมว แมวเองก็ต้องการมีชีวิตอยู่เช่นกัน
รัฐบาลออสเตรเลียอาจมองว่าแมวเป็นปัญหาใหญ่ แต่ Tim Doherty มองว่าเรื่องนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนกับเรื่องอื่นๆ อีก เช่น สัตว์อาจสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของเมือง
“มันมีความเป็นไปได้ที่แมวอาจถูกใช้เป็นเพียงประเด็นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ” Tim Doherty กล่าว
“เราจำเป็นต้องมองวิธีการแบบองค์รวมให้มากขึ้นเพื่อจัดการกับภัยคุกคามทุกๆ อย่างที่จะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ”
สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ที่มองว่าแมวเป็นปัญหาต่อสัตว์พื้นถิ่นเช่นกัน มีการเรียกร้องให้จัดการแมวบ้านอย่างสิ้นเชิง
ปัจจุบันมีนกร้อยละ 37 ของสายพันธุ์นกทั้งหมดในประเทศนิวซีแลนด์ถูกคุกคาม เนื่องจากนกสายพันธุ์ท้องถิ่นในประเทศส่วนใหญ่เป็นนกที่หากินบนพื้นดิน ทำให้โอกาสที่จะถูกแมวล่าได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ. 2013 นักเศรษฐศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์ Gareth Morgan และ John Key นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแคมเปญที่ทำให้คนรักแมวไม่พอใจอย่างมาก โดยทั้งคู่ได้เสนอไม่ให้มีการนำแมวตัวใหม่มาเลี้ยงหากแมวที่เลี้ยงอยู่ตายไป
ต่อมา Maggie Barry รัฐมนตรีกระทรวงการอนุรักษ์ของนิวซีแลนด์ได้ออกมากระตุ้นให้เจ้าหน้าที่เริ่มจัดการกับแมวจรจัดเพื่ออนุรักษ์นกพื้นเมือง และเรียกร้องให้แต่ละครัวเรือนเลี้ยงแมวในจำนวนที่จำกัดเพียงหนึ่งหรือสองตัวต่อหนึ่งครัวเรือนเท่านั้น
และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หมู่บ้านโอเมาอี ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตอนใต้ของนิวซีแลนด์ได้ดำเนินมาตรการสุดโต่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในท้องถิ่นด้วยการห้ามชาวบ้านเลี้ยงแมวอย่างสิ้นเชิง
“พวกเราไม่ได้เกลียดแมว แต่เราต้องการให้สิ่งแวดล้อมของเรามีสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์” John Collinsประธาน Omaui Landcare Charitable Trust องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านโอเมาอี กล่าว