ถ้าสมมุติว่าวันนี้โลกแตก แล้วเราเอาอายุของโลกทั้งหมด 4.5 พันล้านปี มาย่อส่วนลงในปฏิทิน 1 ปี สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลกครั้งแรกช่วงเดือนมิถุนายน ไดโนเสาร์เกิดขึ้นมาในช่วงวันคริสต์มาส และยุคของมนุษย์เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่ถึง 1 วินาที แต่ดูผลกระทบที่เราทำต่อโลกใบนี้สิ!
ในปัจจุบันนี้โลกกำลังเผชิญกับการสูญเสียสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนักนิเวศวิทยาบางคนได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่าการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งที่ 6 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 องค์การสหประชาชาติได้รายงานว่ามีสายพันธุ์กว่า 1 ล้านสายพันธุ์กำลังถูกคุกคาม และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเมื่อไม่นานมานี้มีพืชถึง 571 ชนิดได้ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
การสูญพันธุ์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต แต่คำถามที่สำคัญคืออัตราการสูญพันธุ์นั้นเพิ่มขึ้นจากที่มันควรจะเป็นหรือเปล่า? งานวิจัยชิ้นนี้ได้ตรวจพบว่าพืชบางชนิดนั้นได้สูญพันธุ์ไปด้วยอัตราการสูญพันธุ์ที่เร็วกว่าอัตราในสภาพปกติสูงถึง 350 เท่า โดยมีผลกระทบร้ายแรงต่อสายพันธุ์เฉพาะถิ่นมากเป็นพิเศษ
การวัดอัตราการสูญพันธุ์
มีกี่สายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว? เป็นคำถามที่ยากที่จะตอบเสมอมา เพราะนักวิจัยยังขาดแคลนข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำของการสูญพันธุ์ในแต่ละยุคสมัย ในหลาย ๆ ส่วนของทุกมุมโลก และสายพันธุ์ต่าง ๆ ในแต่ละมุมโลกก็ไม่ได้มีการกระจายกันอย่างไม่สม่ำเสมอ เช่น ในเกาะมาดากัสการ์เป็นถิ่นกำเนิดของพืชประมาณ 12,000 สายพันธุ์ 80% เป็นพืชประจำถิ่น (ไม่พบที่อื่นของโลก) ส่วนเกาะอังกฤษขณะนี้มีพืช 1,859 ชนิด มีเพียง 75 ชนิด (4%ของทั้งหมด) ที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น
พื้นที่อย่างเกาะมาดากัสการ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นพิเศษ และมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกทำลาย นักนิเวศวิทยาจะเรียกว่า “ฮอตสปอต” โดยถ้าวัดจากความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แน่นอนว่าพื้นที่ฮอตสปอตน่าจะได้รับความเสียหายมากกว่าอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจุดที่ไม่ใช่ฮอตสปอตหรือ “โคลด์สปอต” จะไม่ควรค่าแก่การรักษา ในแต่ละพื้นที่ก็มีสายพันธุ์เฉพาะถิ่นที่มีจุดเด่น และมีคุณค่าแตกต่างกันออกไป
นักวิจัยได้ทำการศึกษาการสูญพันธุ์ของพืชจำนวน 291 สายพันธุ์ ที่มาจากทั้งพื้นที่ฮอตสปอต และพื้นที่โคลด์สปอตเพื่อศึกษาว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไรในสองพื้นที่ และเมื่อการสูญพันธุ์ของพืชเกิดขึ้น สายพันธุ์ท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบอย่างไร
ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไร นักวิจัยพบว่าจุดฮอตสปอตนั้นมีอัตราการสูญพันธุ์ที่เยอะกว่าจุดโคลด์สปอตส่วนสาเหตุหลักในทั้งสองพื้นที่ของการสูญพันธุ์ก็คือการเกษตร และการขยายของเมือง ซึ่งทั้งสองสาเหตุก็ได้ยืนยันร่วมกันว่าการทำลายที่อยู่อาศัยคือเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ โดยพืชตระกูลพืชล้มลุกนั้นจะมีความเสี่ยงมากต่อการสูญพันธุ์
อย่างไรก็ตามพืชในจุดโคลด์สปอตนั้นจะสูญเสียความหลากหลายมากกว่า เพราะว่าด้วยจำนวนความหลากหลายที่น้อยแล้วเกิดการสูญเสียขึ้น นั่นหมายถึงเปอร์เซ็นของความเสียหายจะมีมาก นั่นแสดงให้เห็นว่าจุดโคลด์สปอตนั้นก็มีความหลากหลายทางธรรมชาติที่สำคัญ และจำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์ไว้
มากไปกว่านั้นงานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงอัตราการสูญพันธุ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่จุดสูงสุดของกราฟ อัตราการสูญพันธุ์พุ่งไปถึง 350 เท่าของอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติ นักวิจัยก็ได้ทำการคาดการณ์ว่าอัตราการสูญพันธุ์ในอีกประมาณ 80 ปีข้างหน้า จะสูงขึ้นกว่าอัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติหลายพันเท่า
ความยากของการประมาณอัตราการสูญพันธุ์ของพืช
อย่างแรกเลยคือข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ที่จะสามารถใช้อ้างอิงได้นั้นมีน้อย อย่างที่สองคือต้นไม้บางต้นก็มีการปรับตัวที่เก่ง เช่น บางชนิดสามารถอยู่รอดได้ทั้งที่ประชากรน้อยโดยการผสมพันธุ์กับตัวมันเอง หรือบางต้นก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมาก อย่างเช่นเจ้าต้นไม้ Grandidier’s baobab (Adansonia grandidieri) แห่งมาดากัสการ์ที่มีเหลืออยู่แค่ 5 ต้นในโลก เจ้าต้นไม้นี้เป็น 1 ใน 9 สายพันธุ์ในพืชสกุลนี้ที่สามารถมีชีวิตยืนยาวได้หลายร้อยปี นักวิจัยได้คาดการณ์ว่าต้นไม้ชนิดนี้คงจะสูญพันธุ์อย่างแน่นอนในอนาคต แต่เจ้า 5 ต้นนี้ ก็อาจจะอยู่ไปได้อีกเป็นเวลานานกว่าจะสูญพันธุ์
อย่างสุดท้ายคือพืชบางชนิดก็หายากมาก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าต้นที่เราเจอนั้นคือต้นสุดท้ายของสายพันธุ์จริง ๆ แล้ว อันที่จริงแล้วมีการรายงานว่าล่าสุดได้มีการพบพืช 431 ชนิด ที่ก่อนหน้านี้นึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว นักวิจัยจึงคาดว่าในอนาคตการสูญพันธุ์มีแนวโน้มที่จะสูงกว่าประมาณการปัจจุบัน เพราะสายพันธุ์กลุ่มนี้ที่กำลังมีความเสี่ยงสูง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก คือปัญหาใหญ่ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ นอกจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ก็คือสภาวะโลกร้อนนี่แหละ นักวิจัยได้กล่าวว่าค่าการประมาณการสูญพันธุ์ของพืชนั้นต่ำกว่าค่าจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติอย่างแน่นอน
อัตราการสูญพันธุ์ของพืชในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราการสูญพันธุ์ในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีมนุษย์หลายร้อยเท่าในช่วงเวลาสั้น ๆ มันไม่ดีแน่สำหรับอนาคตของโลกใบนี้
ถอดความและเรียบเรียงจาก Plants are going extinct up to 350 times faster than the historical norm
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร