ซุปเปอร์มาร์เก็ต แหล่งขยะพลาสติกที่พยายามแก้ปัญหาไม่มากพอ

ซุปเปอร์มาร์เก็ต แหล่งขยะพลาสติกที่พยายามแก้ปัญหาไม่มากพอ

ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรยังเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งในแต่ละปี แม้ว่าจะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกแล้วก็ตาม ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ 10 แห่ง อาทิ Sainsbury’s, Tesco, Waitrose, Aldi และ Co-op ยังคงใช้ถุงพลาสติกจำนวนมากแม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายคิดราคาถุง 5 เพนนี (ราว 2 บาท) ตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปก็ตาม

ข้อมูลที่รวบรวมโดยกรีนพีซและเผยแพร่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ซุปเปอร์มาเก็ตผลิตถุงพลาสติกใช้แล้วถึงราว 810,000 ตันต่อปี ตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามรายงานของสำนักข่าว The Guardian ซึ่งพบว่าซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำปฏิเสธที่จะเปิดเผยปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้ในแต่ละปี

รายงานของกรีนพีซระบุว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 10 แห่งใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง 1.1 พันล้านชิ้น ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุผักผลไม้ 1.2 พันล้านชิ้น และถุงพลาสติกใช้ซ้ำได้ 958 ล้านชิ้น

เมื่อ พ.ศ. 2558 สหราชอาณาจักรได้นำกฎหมายของสหภาพยุโรปมาใช้ โดยเริ่มคิดค่าธรรมเนียมจากการขอถุงพลาสติก ทำให้ปริมาณถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งลดลงร้อยละ 30 อ้างอิงจากงานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ในทางกลับกัน รายงานของกรีนพีซระบุว่า ทุกภาคส่วนยังต้องเดินหน้าจัดการกับปัญหาเพิ่มเติม เพราะมาตรการเพียงแค่นี้อาจไม่เพียงพอ “การเพิ่มราคาถุงพลาสติกอย่างมีนัยสำคัญ หรือการหยุดการขายทั้งหมดในทันที จะช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกได้มากขึ้น” รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผู้ค้าปลีกบางรายกำลังสำรวจทางเลือกที่จะผลิตถุงพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

บางประเทศก็ไปไกลกว่าการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ประเทศฝรั่งเศสที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกชนิดในบริเวณเคาน์เตอร์จ่ายเงิน รวมถึงบริเวณอาหารสด

รายงานของกรีนพีซ และ องค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency) ระบุว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตยังดำเนินมาตรการ “ไม่เพียงพอ” ที่จะลดรอยเท้าการใช้ถุงพลาสติก โดยสรุปได้ดังนี้

(1) ซุปเปอร์มาเก็ตในการสำรวจเกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติก สำหรับบางซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการกำหนดเป้าหมาย ก็มีอัตราความคืบหน้าที่ช้ามาๆ (ราวร้อยละ 5 ต่อปี) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาร่วม 20 ปีเพื่อกำจัดพลาสติกออกจากชั้นสินค้า

(2) มีเพียงซุปเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ที่เสนอทางเลือกให้ลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์จากบ้านมาเติมได้

(3) ซุปเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่เน้นการรีไซเคิลมากกว่าการลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และตั้งเป้าว่าจะกำจัดพลาสติดที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายใน พ.ศ. 2568

Elena Polisano นักรณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซ กล่าวว่า “มลภาวะพลาสติกกำลังทำให้เกิดวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และซุปเปอร์มาร์เก็ตคือหัวใจของปัญหาดังกล่าว ขยะพลาสติกที่เขาทิ้งที่บ้านส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากชั้นสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่”

“ผู้บริหารของเหล่าบริษัทค้าปลีกได้ตอบความกังวลของผู้บริโภคด้วยการประกาศนู่นนิด นั่นหน่อย เกี่ยวกับการลดพลาสติก แต่กลับไม่มีแผนระยะยาวที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก” เธอกล่าวสรุป

สำนักข่าว The Guardian เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตและบริษัทค้าปลีกต้องจ่ายค้าจัดเก็บขยะและรีไซเคิลเพิ่มขึ้นถึงราว 10 ล้านปอนด์ ตามกลยุทธ์ใหม่ในการจัดการขยะของรัฐบาล

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Supermarkets still produce thousands of tonnes of plastic bags
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง Cate Gillon/Getty Images