สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ควาย และกอริลล่าที่กำลังลดลงเพราะถูกล่าในผืนป่าแอฟริกา ทำให้พบความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรของแมลงขนาดเล็ก เช่น ปลวก
การศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation อธิบายว่า ความอุดมสมบูรณ์ของปลวกได้ลดลงมากถึง 170 เท่าในป่าฝนแอฟริกันที่มีการล่าสัตว์ขนาดใหญ่
นักวิจัย อธิบายว่า ปลวก ถือเป็นวิศวกรทางระบบนิเวศที่สำคัญ พวกมันมีหน้าที่รับผิดชอบในการย่อยสลายซากพืช ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของคาร์บอน ทำให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสม และเป็นแหล่งอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
Therese Lamperty นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ เมืองฮิวสตัน เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาในเรื่องนี้ เธอทราบมาก่อนว่า ปลวก มีวัฏจักรชีวิตที่อ่อนไหวง่ายเมื่อที่อยู่อาศัยเกิดการเปลี่ยนแปลง
“เมื่อเราได้ตรวจสอบมูลของช้างและสัตว์ต่างๆ ก็พบความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกล่ากับสัตว์ที่อยู่ในป่าที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งนั่นเป็นแหล่งอาหารของปลวก และมันเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล”
เมื่อสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เช่นช้างหายไปตัวไปจากสภาพแวดล้อม ปลวกจะสูญเสียไม้ที่ตายลงจากการเหยียบย่ำลง และมูลของสัตว์ที่เป็นแหล่งสารอาหารของพวกมัน
การศึกษานี้เป็นการสำรวจในพื้นที่ป่าฝนของสาธารณรัฐกาบองกาบอง (ประเทศในตอนกลางของภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา) ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของผืนป่าอนุรักษ์ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีผืนป่าต่อเนื่องขนาดใหญ่ เหมาะแก่การเป็นอยู่อาศัยของช้างป่า แต่ขณะเดียวกันในพื้นที่ข้างเคียงบางแห่งที่ไม่ห่างจากพื้นที่อนุรักษ์มากนักก็พบว่ามีการล่าสัตว์ขนาดใหญ่เกิดขึ้น จึงถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการสำรวจ
การศึกษายังพบอีกว่า การที่ช้างและสัตว์กินพืชอื่นๆ หายไปจากป่าจะทำให้พืชพรรณในป่ามีความหนาแน่นมากขึ้น และกลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางให้กับแมงมุมสามารถสร้างใยได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการตัดวงจรชีวิตของแมลงมีปีกต่างๆ ที่ต้องบินไปผสมเกสรและเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
นักวิจัยกล่าวว่ายังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดจากการลงลงของปลวกในกลุ่มสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาหารจากสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการหายไปจากการทำหน้าที่ในระบบนิเวศของปลวก
“การพยายามทำความเข้าใจถึงผลที่ตามมาของการล่าสัตว์ คือสิ่งสำคัญกว่าแค่เรื่องการสูญเสียสัตว์ที่ถูกล่า” นักวิจัย สรุป
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง คลิก