ฉลาม-กระเบน ทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์ จากการทำประมงไร้ขีดจำกัด

ฉลาม-กระเบน ทั่วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์ จากการทำประมงไร้ขีดจำกัด

ฉลามและกระเบนบางชนิดอาจ ‘สูญพันธุ์’ จากท้องทะเลของเรา หลังจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะการทำประมงอย่างทำลายล้างตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ในรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า นับตั้งแต่ปี 1970 – 2018 ประชากรฉลามและปลากระเบนลดลงมากถึง 71.1 เปอร์เซ็นต์

Nick Dulvy นักชีววิทยาจาก Simon Fraser University และผู้ทำรายงานการวิจัย กล่าวอย่างประหลาดใจว่ามันเป็นสถิติที่แทบไม่น่าเชื่อ เพราะอัตราการลดลงของสัตว์ในมหาสมุทรมีอัตราที่สูงกว่าการลดลงช้างหรือแรด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ของกลุ่มสัตว์บกเสียอีก

ในการศึกษา นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพจากแหล่งข้อมูลที่สำคัญ 2 รายการ ประกอบด้วย บัญชี Red List ของ IUCN และรายงาน Living Planet Index ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่วัดการเปลี่ยนแปลงของความอุดมสมบูรณ์จำนวนประชากร

ผลการวิจัยพบว่า การลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรฉลามในมหาสมุทรทั่วโลก ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้พวกมันมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้นอย่างน่ากังวล

ปัจจัยสาเหตุมีทั้งเรื่อง การถูกมนุษย์รบกวน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่เรื่องของการทำประมงที่มากเกินไปถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด

ฉลามจะถูกจับมาเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อ ครีบ เหงือก และน้ำมันตับ พวกมันถูกล่าอย่างหนักในช่วงในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ที่มีการทำประมงอย่างมหาศาล ทำให้ฉลามราว 63 – 273 ล้านตัว ถูกฆ่าทุกปี

ในเอเชียหูฉลามได้กลายเป็นเมนูสร้างมูลค่าในรูปแบบของซุปหูฉลามส่วนหนึ่งเป็นการออกทางสัญลักษณ์ถึงสถานะในงานเลี้ยงอาหารค่ำและงานเลี้ยงแบบจีน

ผลการศึกษาเมื่อปี 2018 ในวารสาร Marine Policy พบว่าในฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้าฉลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการนำเข้าหูฉลามเพิ่มเป็นเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1960

การล่าฉลามเพื่อสนองความต้องการ (ที่มากเกินไป) ถือเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวง เนื่องจากฉลามมีอัตราการเติบโตของประชากรในธรรมชาติต่ำ ฉลามบางชนิดในเวลาอุ้มท้องนาน และออกลูกน้อย

อย่างไรก็ตาม ในข่าวเศร้าก็พอมีสัญญาณแห่งความน่ายินดีอยู่บ้างสำหรับสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ฉลามขาว ซึ่งสถานะทางประชากรเกือบล่มสลายไปในศตวรรษที่ 20 ได้เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างมากได้ในหลายภูมิภาคเนื่องจากนโยบายห้ามล่าของหลายรัฐบาล

ฉลามหัวค้อนเองก็กำลังสร้างกลุ่มประชากรขึ้นมาใหม่ในมหาสมุทรแอตแลนติกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ จากความเข้มงวดกวดขันของสหรัฐฯ

แต่กระนั้นนักวิจัยยังกังวลว่าภัยคุกคามจากการประมงแบบทำลายล้างยังถือเป็นภัยคุกคคามที่น่าเป็นห่วงและไม่อาจปฏิเสธเหตุผลนี้ไปได้

เนื่องจาก ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่ประเทศที่กำหนดข้อจำกัดการทำประมงอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงประเด็นความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ ที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการอนุรักษ์สายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

นักวิจัยกล่าวว่า งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นการกำหนดนโยบายในการปกป้องฉลามและกระเบนในทันที รัฐบาลแต่ละประเทศควรสร้างข้อบังคับเพื่อปกป้องสายพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์นี้และควรออกแบบการทำประมงมุ่งไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืน

ก่อนที่จำนวนประชากรของสัตว์ทะเลที่ลดน้อยลงถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไป


อ้างอิง Shark and ray populations have dropped 70% and are nearing ‘point of no return,’ study warns
ภาพเปิดเรื่อง © Andy Cornish

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม