ยักษ์ใหญ่ใจดีความยาวเท่ากับรถบัส ทั่วตัวปกคลุมด้วยลวดลายจุดสีขาวค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังเตรียมเครื่องมืออัลตราซาวด์น้ำหนัก 17 กิโลกรัมบริเวณจุดดำน้ำที่เงียบสงบแห่งหนึ่งของโลก พวกเขากำลังเฝ้ารอฉลามวาฬ
การเตรียมการนานนับเดือนอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างฉลามวาฬและทีมวิจัยเป็นเวลาเพียง 30 ถึง 45 วินาที นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งใช้ใบพัดตัวช่วยที่ติดอยู่ด้านหลังถังอากาศ ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปด้านใต้ของฉลามวาฬยักษ์แล้วใช้เครื่องมือไล้ไปตามท้องที่โปงนูนออกมา ได้เป็นผลของการอัลตราซาวด์ฉลามวาฬตามธรรมชาติครั้งแรกของโลก
การอัลตราซาวด์ฉลามวาฬเพศเมียสามตัวบริเวณเกาะกาลาปากอสเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อคลายปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมหาสมุทร เป็นเวลากว่าทศวรรษที่นักวิจัยทำงานอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการสืบพันธุ์และการคลอดลูกของฉลามวาฬ
“นี่คือปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทร และน่าจะเป็นฉลามขนาดใหญ่ที่สุด” โจนาธาน อาร์. กรีน (Jonathan R Green) ผู้อำนวยการโครงการฉลามวาฬแห่งเกาะกาลาปากอสกล่าว “แต่เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพฤติกรรมการสืบพันธุ์ของมัน”
เป็นเวลากว่าเจ็ดสิบล้านปีที่ฉลามวาฬประเภทหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในมหาสมุทร ช่วงเวลาหนึ่งมันมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีที่กินอาหารโดยการกรองนับว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่ผิดแผกแตกต่างจากฉลามชนิดอื่นที่มักเป็นยักษ์ใหญ่นักล่าพร้อมกับฟันคมซี่โต ฉลามวาฬใช้ฟันซี่จิ๋วที่เรียงตัวกันกว่า 300 แถว เคลื่อนตัวไปในกระแสน้ำอย่างเชื่องช้าและเปิดโอกาสให้เหล่าปลาบางชนิดมาขอติดไปด้วย
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าฉลามวาฬจะเป็นที่รู้จักมากพอๆ กับฉลามชนิดอื่น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่ชวนให้ประหลาดใจเกี่ยวกับฉลามวาฬอย่างต่อเนื่อง เช่นนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่พบว่าพื้นผิวตาใกล้กับม่านตาของฉลามวาฬนั้นปกคลุมด้วยโครงสร้างขนาดจิ๋วคลายฟันกว่า 3,000 ส่วนหรือที่เรียกว่า “dermal denticles” ในขณะที่อีกทีมวิจัยหนึ่งพบว่ามีสัตว์คล้ายกุ้งตัวจิ๋วอาศัยอยู่ในปากของฉลามวาฬกว่าพันชีวิต
“ทุกวันนี้ เรามีไม่กี่เรื่องบนโลกที่สามารถพูดได้ว่า ‘เรื่องนี้คือเรื่องใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน’ ความลึกลับของฉลามวาฬก็คล้ายกับการค้นพบแรงโน้มถ่วง เป็นสาขาวิชาที่น่าตื่นเต้นแต่ก็ชวนให้เครียดเหมือนกัน” โจนาธานกล่าว
โจนาธานและทีมวิจัยของเขาเดินหน้าทำอัลตราซาวด์หลังจากพบกลุ่มฉลามวาฬเพศเมียที่ท้องนูนกว่าปกติอยู่ใกล้ชายฝั่งเกาะกาลาปากอสซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าแปลกใจเพราะส่วนใหญ่แล้วเรามักจะพบกลุ่มฉลามวาฬเพศผู้วัยรุ่นรวมกลุ่มอยู่ที่ชายฝั่ง
แม้ว่าผลอัลตราซาวด์จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าฉลามวาฬเหล่านั้นตั้งท้องอยู่หรือไม่ แต่มันก็แสดงให้เราเห็นรังไข่และไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมพันธุ์ นับเป็นแนวทางให้มีการศึกษาเพิ่มเติมว่าพื้นที่ชายฝั่งกาลาปากอสมีความสำคัญอย่างไรต่อการผสมพันธุ์ของฉลามวาฬ
โจนาธานและทีมวิจัยของเขาได้ติดเครื่องส่งสัญญาณกับฉลามวาฬหลายตัว พวกเขาพบว่าฉลามวาฬมักจะดำดิ่งลงไป ณ ระดับลึกกว่า 2,000 เมตร ‘พฤติกรรมการดำดิ่ง (spiralling behaviour)’ เป็นสิ่งที่ทีมวิจัยยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ เพราะพื้นที่น้ำลึกดูจะสร้างข้อเสียเปรียบต่อฉลามวาฬในการหนีสัตว์ผู้ล่า ให้กำเนิดลูกน้อย หรือการหาอาหารอย่างแพลงก์ตอนซึ่งมักอยู่บนผิวน้ำ
“นี่คือปริศนาซ้อนปริศนาที่เราพยายามค่อยๆ ไขทีละขั้น” โจนาธานกล่าว “แต่ทุกครั้งที่เราได้ข้อมูลสำคัญชุดใหม่มา มันกลับนำไปสู่ชุดคำถามใหม่ไม่รู้จบ”
ยิ่งนานวัน คำถามเหล่านี้ยิ่งกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน “ประชากรฉลามวาฬมีจำนวนน้อยลงทุกวัน เรากำลังสูญเสียพวกมันไปด้วยอัตราเร็วที่ไม่เคยพบมาก่อนบนโลก อาจเป็นรองเพียงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเตเชียสในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์”
ฉลามวาฬอยู่ในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 อัตราการมีชีวิตรอดของมันลดลงเนื่องจากการประมงที่บางครั้งอวนขนาดใหญ่จับฉลามวาฬไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงการล่าอย่างจงใจเพื่อนำครีบไปขายในแถบเอเชีย โดยครีบหนึ่งครีบอาจมีราคาร่วมหกแสนบาท
การค้นหาคำตอบยังเผชิญกับความยุ่งยากเชิงเทคนิคเนื่องจากฉลามวาฬเดินทางครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ขยับจากพื้นที่มหาสมุทรเปิด พื้นที่ชายฝั่ง และทะเลลึก การศึกษาซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2561 ติดตามการเดินทางของฉลามวาฬชื่อแอนโดยพบว่าฉลามวาฬเดินทางไกลกว่า 200,000 กิโลเมตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตลอดระยะเวลาสองปีสามเดือน โดยมีครั้งหนึ่งที่เธอเดินทางไปยังร่องลึกมาเรียนา ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร
ช่องว่างทางความรู้เกี่ยวกับปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังสะท้อนการจัดลำดับความสำคัญของสังคมเรา โจนาธานมองว่ามนุษยชาติให้ความสนใจกับการสำรวจอวกาศนอกโลก แต่กลับมองข้ามมหาสมุทรที่ลึกและกว้างบนพื้นผิวโลกทุกวันนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานแข่งกับเวลา “คุณจะทำแผนการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อย่างไร หากคุณไม่ร็ด้วยซ้ำว่าสัตว์ชนิดนั้นสืบพันธุ์อย่างไร เมื่อไหร่ และที่ไหน” Alistair Dove รองผู้จัดการด้านการวิจัยและการอนุรักษ์จากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่อาศัยของฉลามวาฬวัยรุ่นสี่ตัวที่ยังไม่ถึงวัยพร้อมสืบพันธุ์
เราแทบไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกฉลามวาฬที่คลอดตามธรรมชาติ เขาเล่าว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่สูญหายไป ระหว่างที่มันเพิ่งเกิดและมีความยาวประมาณ 45 – 60 เซนติเมตรกระทั่งมันมีความยาว 3 – 4 เมตร ช่วงเวลานี้เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันอาศัยอยู่ที่ไหน”
เราพบปรากฏข้อมูลที่น่าประหลาดใจจากทั่วโลก เช่น ฉลามวาฬเพศเมียที่ถูกแทงด้วยฉมวกจากเรือประมงในประเทศไต้หวันเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยพบว่าในท้องของฉลามวาฬตัวดังกล่าวมีลูกฉลามวาฬที่มีระดับของพัฒนาการที่แตกต่างกันกว่า 300 ตัว การวิเคราะห์โดยนักวิจัยที่เผยแพร่เมื่อหลายปีหลังจากนั้นระบุว่าลูกฉลามวาฬ 29 ตัวเกิดจากพ่อฉลามวาฬตัวเดียวกัน หลักฐานดังกล่าวบ่งบอกว่าการผสมพันธุ์ของฉลามวาฬหนึ่งครั้ง ฉลามวาฬเพศเมียจะเก็บสเปิร์มพื่อนำมาผสมพันธุ์กับไข่ที่อยู่ในท้องตามเวลาที่เหมาะสม
วีดีโอซึ่งถ่ายในปี พ.ศ. 2562 เครื่องบินบินเหนือแนวปะการังนินกาลู (Ningaloo Reef) ทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย พบฉลามวาฬเพศผู้ที่โตเต็มวัยว่ายเวียนวนซิกแซกเหมือนกับพยายามเรียกร้องความสนใจจากฉลามวาฬเพศเมียก่อนที่จะพลิกตัวกลับหัวแล้วนาบตัวกับฉลามวาฬเพศเมียเพื่อสอดใส่อวัยวะเพศ นักวิจัยบางคนมองว่านี่คือวีดีโอที่แสดงการสืบพันธุ์ แต่ Jennifer Schmidt ระบุว่าฉลามวาฬเพศเมียในคลิปวีดีโอยังเด็กเกินไปที่จะตั้งครรภ์
“ในคลิปคือฉลามวาฬวัยรุ่นกับฉลามวาฒวัยเจริญพันธุ์ คลิปนี้อาจเป็นเพียงพฤติกรรมเล่นสนุกหรือการฝึกปรือการสืบพันธุ์ แต่มันก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่านี่คือการสืบพันธุ์เพราะฉลามวาฬตัวหนึ่งยังเด็กเกินไป” เธอกล่าวเสริม
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการรายงานการพบเห็นการสืบพันธุ์ของฉลามวาฬเพียงสองครั้ง และทั้งสองครั้งเกิดอยู่ที่เกาะห่างไกลชื่อเซนต์เฮเลนา ทางใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งระบุข้อมูลใกล้เคียงกันคือตัวผู้และตัวเมียแนบตัวกันในแนวตั้ง ก่อนที่ฉลามวาฬตัวเมียจะพลิกขึ้นสู่ด้านบนตัวผู้
รายงานดังกล่าวนับว่าน่าเชื่อถือเนื่องจากบริเวณเกาะนั้นเป็นเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีการพบฉลามวาฬเพศผู้พร้อมกับเพศเมีย “ฉันไม่สงสัยเลยว่าทั้งสองรายงานมีการพบการผสมพันธุ์ระหว่างฉลามวาฬจริงๆ” Alistair Dove แสดงความเห็น “เราเพียงแค่ไม่มีคลิปวีดีโอยืนยันซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21”
เขากล่าวเสริมว่าทีมนักวิจัยพยายามอย่างยิ่งในการค้นหาหลักฐานที่หนักแน่น เพื่อคลายปริศนาที่แวดล้อมฉลามวาฬมายาวนานนับล้านปี “นี่คือเรื่องที่กวนใจนักชีววิทยาทางทะเลอย่างผมมาก เรารู้จักสัตว์ทะเลขนาดยักษ์แต่กลับแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพฤติกรรมของมันเลย ตอนนี้ฉลามวาฬถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และเราแทบไม่มีโอกาสคลายปัญหาที่เผชิญอยู่เลย หากเรายังไม่ทราบว่าฉลามวาฬขยายพันธุ์อย่างไร”
ถอดความและเรียบเรียงจาก The Ocean’s Largest Mystery—Why Has No One Seen a Whale Shark Give Birth?
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก