มนุษย์ในปัจจุบันอยู่ในโลกที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 20 ปีก่อน ข้อมูลจากดาวเทียมโดยองค์การนาซาเปิดเผยว่าพบพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นซึ่งอาจขัดกับความเข้าใจของใครหลายคน งานวิจัยฉบับใหม่ระบุว่า ประเทศจีนและอินเดีย สองประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คือผู้นำที่พาสีเขียวกลับมาสู่พื้นดิน ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเกษตรเข้มข้นในทั้งสองประเทศ
Ranga Myneni จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และคณะวิจัย พบปรากฎการณ์ความเขียวที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางคริสตทศวรรษที่ 1990 พวกเขาไม่รู้ว่าสาเหตุหลักเกิดจากมนุษย์ และได้ทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
งานวิจัยฉบับนี้พบว่าพื้นที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นพื้นที่เทียบเท่ากับป่าแอมะซอน โดยราวร้อยละ 25 ของพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นมาจากประเทศจีน โดยพบว่าพื้นที่โลกซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณราว 1 ใน 3 นั้นมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 5 เปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาล งานวิจัยฉบับดังกล่าวตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แผนที่ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นและลดลงของพืชพรรณสีเขียว โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของพื้นที่ต่อปี ในแต่ละภูมิภาคของโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถึง 2560 อย่างไรก็ดี แผนที่ดังกล่าวไม่ได้วัดระดับความเขียวในภาพรวม ทำให้พื้นที่เช่นป่าแอมะซอน หรือทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือไม่ได้แสดงอย่างโดดเด่นหากเทียบกับพื้นที่ป่าแห่งอื่นๆ
“ประเทศจีนและอินเดียมีพื้นที่ที่กลายเป็นสีเขียวมากขึ้นถึง 1 ใน 3 แต่ทั้งสองประเทศมีพื้นที่เพียงร้อยละ 9 ของพื้นที่ที่มีพืชพรรณปกคลุมทั่วโลก ข้อค้นพบดังกล่าวน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะเรามักเข้าใจว่าพื้นที่จะเสื่อมสภาพลงจากการใช้เพื่อการเกษตรในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น” Chi Chen ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตันให้สัมภาษณ์
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลที่เก็บต่อเนื่องมากว่า 20 ปีจากกลางสเปกโตรเรดิโอมีเตอร์ถ่ายภาพความละเอียดขนาดกลาง (Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer: MODIS) เครื่องมือถ่ายภาพของดาวเทียม Terra และ Aqua ขององค์การนาซา ข้อดีของ MODIS คือมีความครอบคลุมทั้งในแง่พื้นที่และเวลา เซนเซอร์ดังกล่าวเก็บข้อมูลภาพถ่ายมากถึง 4 ภาพในเกือบทุกพื้นที่บนโลก ทุกวัน เป็นเวลากว่า 20 ปี
“ข้อมูลระยะยาวนี้ทำให้เราค้นได้ลึกมากขึ้น ครั้งแรกที่เราพบว่าพื้นผิวโลกเปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียว เราเข้าใจว่าเกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น อากาศที่ชื้นขึ้น และความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดจากการใส่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปสู่ชั้นบรรยากาศ ภาพจาก MODIS ยืนยันว่ากิจกรรมของมนุษย์มีส่วนในกระบวนการดังกล่าว” Rama Nemani นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์วิจัย Ames องค์การนาซา หนึ่งในคณะวิจัยในงานชิ้นดังกล่าว
ความเป็นผู้นำด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศจีนมาจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า (คิดเป็นราวการฟื้นพื้นที่สีเขียวราวร้อยละ 42) โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากการกัดเซาะผิวดิน มลภาวะทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อีกราวร้อยละ 32 ของพื้นที่ที่กลายเป็นสีเขียวในจีนและร้อยละ 82 ในอินเดียมาจากการเกษตรเข้มข้นเพื่อปลูกพืชอาหาร พื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตรในจีนและดินเดียไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน แต่ทั้งสองประเทศเพิ่มความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวและการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรจำนวนมหาศาล การทำการเกษตรเขียวนั้นประสบความสำเร็จได้จากการปลูกพืชหมุนเวียนในแปลงเดียวกัน เพื่อเก็บเกี่ยวทั้งธัญญาหาร ผัก ผลไม้ และพืชผลอื่น ซึ่งเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 35 ถึง 40 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2543
เทรนด์การเติบโตของพื้นที่สีเขียวในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้นในประเทศอินเดียโดยใช้น้ำบาดาล แต่หากน้ำใต้ดินหมดลง ทิศทางการใช้พื้นที่ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ คณะวิจัยยังระบุว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นผิวโลกไม่สามารถนำไปหักลบกลบทับกับการสูญเสียพืชพรรณตามธรรมชาติในภูมิภาคร้อนชื้น เช่น บราซิล หรืออินโดนีเซีย ซึ่งสร้างผลกระทบในแง่ความยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพ มากกว่ามองเพียงพื้นที่สีเขียว
อย่างไรก็ดี Rama Nemani ยังมองเห็นด้านบวกของผลการศึกษาดังกล่าว “เมื่อประชาชนเริ่มรับรู้ถึงปัญหา ก็เป็นได้อย่างยิ่งว่าพวกเขาจะช่วยกันแก้ไข ในช่วง 50 ปีก่อน การสูญเสียพื้นที่สีเขียวในจีนและอินเดียนั้นรุนแรงมาก แต่เมื่อสาธารณชนเริ่มตระหนักถึงปัญหา ก็เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวฟื้นคืนสภาพได้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นจากข้อมูลดาวเทียม”
ภาพถ่าย NASA Earth Observatory โดย Joshua Stevens อ้างอิงข้อมูลจาก Chen et al., (2019).