จำนวน “แรดดำ” ในแอฟริกาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังหนีไม่พ้นวิกฤตการสูญพันธุ์

จำนวน “แรดดำ” ในแอฟริกาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังหนีไม่พ้นวิกฤตการสูญพันธุ์

แอฟริกา ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง “แรดดำ” ได้สำเร็จ โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนแรดดำในผืนป่าเพิ่มขึ้นหลายร้อยตัว 

แม้ว่าสถานะของแรดดำยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการสูญพันธุ์ แต่ข้อมูลการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยนี้ คือหนึ่งความหวังที่เกิดจากความพยายามของการทำงานอนุรักษ์

โดยจำนวนแรดดำเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ในช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 4,845 ตัวในปี 2012 มาที่ (ประมาณ) 5,630 ตัวในปี 2018

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความพยายามในหลายๆ ทาง ทั้งการย้ายประชากรแรดดำไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้จำนวนแรดดำทั้ง 3 สายพันธุ์ย่อย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักอนุรักษ์ต่างมองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะฉลองความสำเร็จของเรื่องนี้ เนื่องจากภัยคุกคามสำคัญที่ร้ายแรงอย่างการล่าและการค้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมายยังคงมีอยู่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกระดับมาตรการต่อต้านการล่าให้เข้มข้นขึ้น รวมถึงการจัดการดูแลจำนวนประชากรที่ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

และแม้จะพบข่าวดีจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรดดำ ทว่าแรดสายพันธุ์อื่นๆ ในป่าแอฟริกายังคงน่าเป็นห่วงอยู่

ข้อมูลสถานะที่ปรับปรุงใหม่จากรายงานของ IUCN ระบุว่า “แรดขาว” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังถูกจัดอยู่ในสถานะ “สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์”

 

South-Western Black Rhino in bushes © Mike Knight

 

แน่นอนว่าสาเหตุนั้นหนีไม่พ้นการล่า โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ทางแอฟริกาใต้

เพราะแรดขาวมีขนาดนอที่ใหญ่กว่าแรดดำจึงกลายเป็นที่สนใจมากกว่า และแรดขาวเองก็มักอาศัยที่อยู่ในที่โล่งแจ้งทำให้ตามล่าได้ง่ายกว่า

ก่อนหน้านี้ ในช่วงระหว่างปี 2007 ถึง 2012 จำนวนแรดขาวเคยถูกระบุว่ามีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทว่าสายพันธุ์ย่อยอย่าง “แรดขาวใต้” กลับลดลงในช่วงเวลาเดียวกันจาก 21,300 ตัว กลายเป็นเหลือเพียง 18,000 ตัว ทำให้รายงานการเพิ่มขึ้นที่ว่านั้นกลายเป็นโมฆะ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณการล่าแรดดูเหมือนจะลดลงจากค่าสถิติสูงสุดที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2015 ต่อวันมีแรดถูกฆ่าเฉลี่ยวันละ 3.7 ตัว แต่ในการสำรวจข้อมูลเมื่อปี 2019 พบว่าการล่าลดลง เพราะรัฐบาลมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการปราบปรามแกงค์อาญชากรสัตว์ป่า

ทว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักอนุรักษ์เป็นกังวลว่า การอนุรักษ์แรดอาจทำได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวอันเป็นต้นทุนที่นำมาใช้ในงานอนุรักษ์ลดน้อยลงตามไปด้วย

แน่นอนว่าผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบในแง่ลบอย่างมีนัยยะสำคัญ และนั่นก็ส่งผลถึงการดำเนินงานด้านอนุรักษ์ในหลายๆ ประเทศ ที่ต้องอาศัยเงินทุนส่วนนั้นเข้ามาจุนเจือ

ซึ่งนี่อาจเป็นช่องว่างของปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตการสูญพันธุ์นี้ไปด้วยกัน

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง Win for conservation as African black rhino numbers rise และ Conservation efforts bring cautious hope for African rhinos – IUCN Red List
ภาพเปิดเรื่อง Southeastern Black Rhino โดย Richard Emslie