จะเกิดอะไรหากแม่โขงไร้ตะกอน

จะเกิดอะไรหากแม่โขงไร้ตะกอน

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นบ้านของชาวเวียดนามกว่า 18 ล้านชีวิต รวมถึงเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและการทำประมงที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเวียดนามไม่สามารถสูญเสียไปได้ อย่างไรก็ดี ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาพื้นที่ดังกล่าวไว้ได้เช่นกัน

งานศึกษาชิ้นล่าสุดโดยองค์การพัฒนาแห่งฝรั่งเศส (AgenceFrancaise de Developpement) และสหภาพยุโรปพบว่าตะกอนของแม่น้ำโขงซึ่งไหลลงไปยังบริเวณอ่าวจูล่งลดลงถึงร้อยละ 65 ถึงร้อยละ 75 หากเปรียบเทียบกับปริมาณเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา

การลดลงของตะกอนเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์บริเวณเหนือลำน้ำ ตั้งแต่การผุดขึ้นราวดอกเห็ดของเขื่อนขนาดใหญ่ท่ามกลางเสียงทักท้วงของประเทศท้ายน้ำอย่างกัมพูชาและเวียดนาม อีกทั้งการดูดทรายจากแม่น้ำโขงของชาวเวียดนามเองก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

การศึกษาดังกล่าวคาดการณ์ว่า บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะได้รับตะกอนซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารสำคัญเพียงร้อยละ 10 ถึง 20 เมื่อเทียบกับศตวรรษที่แล้วหลังจากที่โครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดเหนือลำน้ำโขงเดินหน้าจนเสร็จสิ้น ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของเวียดนามกว่า 702 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เนื่องจากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของผลผลิตทางการเกษตรและการประมง และอาจทำให้รายได้ของบริษัทซึ่งพึ่งพิงทรัพยากรจากพื้นที่ดังกล่าวลดลงกว่าครึ่ง

เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำทางต้นน้ำโขงไม่เพียงแต่กักเก็บตะกอนไว้ท้ายเขื่อนเท่านั้น แต่ยังขวางกั้นการอพยพของปลาไม่ให้ลงมายังบริเวณปากแม่น้ำอีกด้วย ซึ่งเขื่อนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปัจจุบันนั้นส่งผลให้ปริมาณปลาของเวียดนามและกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ คาดว่าร้อยละ 10 ของชนิดพันธุ์ปลาจะสูญหายไปจากผืนน้ำของทั้งสองประเทศ

การสูญเสียตะกอนยังทำร้ายตลิ่งริมแม่น้ำรวมทั้งชายฝั่งทางตอนใต้ของเวียดนาม เนื่องจากการกัดเซาะที่รุนแรงและการขาดแคลนตะกอนที่จะกลับมาถมทับ

“การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งบริเวณอ่าวจูล่งนั้นรุนแรงมากและกำลังแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม” ดร. Van Pham Dang Tri จากมหาวิทยาลัย Can Tao ให้สัมภาษณ์

Hoang Van Thang รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและการพัฒนาพื้นที่ชนบทระบุว่า การสูญเสียตะกอนดินจากแม่น้ำโขงทำให้การฟื้นตัวของชายฝั่งหยุดชะงักเลย “จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นกระบวนการในทางกลับกันคือเรากำลังสูญเสียแผ่นดินให้ทะเลอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วขึ้นทุกที” เขากล่าวและย้ำกว่าสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนซึ่งเกิดขึ้นเหนือน้ำของอ่าวจูล่ง

“การเติบโตอย่างไม่ยั่งยืนในบริเวณปากแม่น้ำก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เช่น การดูดทรายจากแม่น้ำซึ่งทำลายทรัพยากรใต้ผืนน้ำเป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน” Hoang Van Thang กล่าวเสริม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Sediment loss in Mekong River killing southern delta
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์