บีเวอร์ 15 ครอบครัวได้รับ ‘สิทธิในการอยู่อาศัย’ แบบถาวรในแม่น้ำ Otter ใกล้เมือง East Devon ประเทศอังกฤษ รัฐบาลมีคำตัดสินดังกล่าวโดยอิงจากการศึกษาต่อเนื่อง 5 ปีโดยกองทุนทรัสต์เพื่อสัตว์ป่าเดวอน (Devon Wildlife Trust) ว่าด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบีเวอร์ต่อระบบนิเวศ
กองทุนทรัสต์แถลงว่า “คำตัดสินดังกล่าวนับเป็นคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์สำหรับสัตว์ป่าของอังกฤษในยุคสมัยนี้” และยังเป็นครั้งแรกที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งสูญพันธุ์จากธรรมชาติได้รับการสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูประชากรตามธรรมชาติโดยรัฐบาล
Rebecca Pow รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุว่าครอบครัวบีเวอร์นี้อาจกลายเป็น ‘ทรัพย์สินสาธารณะ’ ที่เกษตรกรและเจ้าของที่ดินจะได้รับค่าตอบแทนหากเหล่าบีเวอร์มาอาศัยอยู่ในพื้นที่
บีเวอร์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ พวกมันจะรู้สึกปลอกภัยในน้ำลึก อีกทั้งเหล่าบีเวอร์จึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้างเขื่อนและแอ่งน้ำลึก การไต่สวนในการมอบสิทธิให้เหล่าบีเวอร์แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสัตว์ป่าในการฟื้นฟูระบบนิเวศของพื้นที่น้ำท่วมถึงใน East Devon
พวกมันยังช่วยเพิ่ม ‘ชีวมวลของปลา’ ช่วยเพิ่มคุณภาพน้ำ ในขณะที่เหล่าบีเวอร์เป็นสัตว์กินพืช นั่นหมายถึงอาหารที่เพิ่มขึ้นแก่ตัวนาก และน้ำที่สะอาดเพียงพอต่อเหล่าประชากรนกกระเต็น เขื่อนของบีเวอร์ยังเป็นกลไกป้องกันน้ำท่วมตามธรรมชาติ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมบริเวณท้ายน้ำ
หลักฐานเชิงประจักษ์ที่รวบรวมโดยนักวิจัยระหว่างการสืบสวน ช่วยให้กรมสิ่งแวดล้อม อาหาร และการชนบท (Department for Environment, Food and Rural Affairs) มีคำตัดสินที่เรียกได้ว่า ‘ล้ำสมัย’ ซึ่งให้สิทธิแก่ครอบครัวบีเวอร์ในการอยู่อาศัย หากิน และสืบพันธุ์ในแม่น้ำสายนี้
บีเวอร์ถูกล่าจนสูญพันธุ์จากธรรมชาติเมื่อ 400 ปีก่อน เพื่อใช้เป็นอาหาร หนังสัตว์ที่กันน้ำ และสารที่มันขับออกมาที่ชื่อว่าแคสโตเรียม (castoreum) ซึ่งถูกใช้สำหรับประกอบอาหาร ยา และน้ำหอม
เมื่อ พ.ศ. 2556 ปรากฏวีดีโอของบีเวอร์ที่มีลูกอ่อนใน River Otter ใกล้กับ Ottery St. Mary นับว่าเป็นหลักฐานครั้งแรกของการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของประชากรบีเวอร์ในอังกฤษ
นับว่าเป็นเรื่องน่าฉงนว่ามันปรากฏตัวได้อย่างใด แต่บางคนคาดว่าบีเวอร์เหล่านั้นถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติโดยนักรณรงค์ด้านสัตว์ป่าซึ่งมีชื่อในโซเชียลมีเดียคือกลุ่ม “บีเวอร์บอมเบอร์”
เหล่าบีเวอร์เสี่ยงต่อการถูกกำจัดออก อย่างไรก็ดี กองทุนทรัสต์เพื่อสัตว์ป่าเดวอนร่วมกับ University of Exeter หน่วยงาน Clinton Devon Estates และบริษัทที่ปรึกษา Derek Gow Consultancy ได้รับสิทธิในการศึกษาบีเวอร์เหล่านี้เป็นเวลา 5 ปี และปัจจุบัน บีเวอร์ตัวเต็มวัยกว่า 50 ชีวิตและเหล่าลูกน้อยก็มีสิทธิที่จะอยู่ต่อ
Peter Burgess ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์ของกองทุนทรัสต์เพื่อสัตว์ป่าเดวอนให้สัมภาษณ์ว่า “นี่คือการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของภาครัฐและจะส่งผลถึงอนาคตของสัตว์ป่าในอังกฤษ บีเวอร์คือวิศวกรตามธรรมชาติและมีทักษะที่ไม่มีใครสามารถเทียบได้ในการฟื้นฟูชีวิตใหม่ให้กับแม่น้ำของเรา
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเคยเดินทางไปเยี่ยมชมบริเวณแม่น้ำที่เหล่าบีเวอร์อยู่อาศัย เธอระบุว่าโครงการดังกล่าว “มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันสะท้อนว่าเรามีมุมมองต่ออนาคตอย่างไร”
เธออธิบายว่าบีเวอร์คือ “เครื่องมือจัดการสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ” และกล่าวเสริมว่าการมีพวกมันอยู่ในธรรมชาติจะสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะซึ่งเกษตรกรและเจ้าของที่ดินควรได้รับเงินอุดหนุนตามระบบชดเชยใหม่หลังจากที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป
เธอกล่าวว่า “ตามกลไกใหม่เพื่อการจัดการที่ดินและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีที่ดินจะได้รับเงินตอบแทนจากการให้บริการ เช่น การบริหารจัดการน้ำท่วมหรือการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ”
“หากเรามองประโยชน์ของบีเวอร์ต่อพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด เกษตรกรก็ควรได้รับเงินจ่ายชดเชยหากที่ดินของเขาหรือเธอมีบีเวอร์อาศัยอยู่”
คงกล่าวได้ว่าอนาคตของเหล่าบีเวอร์ในแม่น้ำ Otter ถือว่าปลอดภัย แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อประชากรตามธรรมชาติในพื้นที่อื่นทั่วอังกฤษ เช่น แม่น้ำ Wye แม่น้ำ Tamar หรือกระทั่งบริเวณ Somerset
บีเวอร์ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในสก็อตแลนด์ราวทศวรรษก่อน และได้รับการยกระดับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรยังแสดงความกังวลว่าเขื่อนของบีเวอร์อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วน
เมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยงานมรดกธรรมชาติแห่งสก็อตแลนด์ได้ให้ใบอนุญาตการล่าบีเวอร์จำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ Mark Owen ผู้อำนวยการด้านแหล่งน้ำจืดของกองทุนทรัสต์ Angling ระบุว่า “การปล่อยบีเวอร์สู่ธรรมชาติอาจสร้างความเสี่ยงสำคัญต่อชนิดพันธุ์ปลาอพยพที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น แซลมอน และเทราท์ทะเล” เขายังกล่าวเสริมอีกว่า รู้สึก “เสียใจที่รัฐมนตรีตัดสินใจที่จะสนับสนุนการปล่อยชนิดพันธุ์ใหม่คืนสู่ธรรมชาติ แทนที่จะให้ความสำคัญกับชนิดพันธุ์ที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติที่ต้องการการคุ้มครองเช่นกัน
เหล่าผู้เกี่ยวข้องกับคดีบีเวอร์เชื่อว่าโครงการปล่อยบีเวอร์คืนสู่ธรรมชาติขนาดใหญ่ขึ้นจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง ศาสตราจารย์ Richard Brazier จาก University of Exeter ระบุว่าวิถีชีวิตของบีเวอร์จะช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
เจ้าบีเวอร์ยังกระตุ้นให้เกิด “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า” เมื่อประชาชนจำนวนมากต้องการมาหาบีเวอร์ กิจกรรมดังกล่าวช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่น
เขาระบุว่า “ประโยชน์ที่ได้จากการปล่อยบีเวอร์สู่ธรรมชาติจะมีน้ำหนักมากกว่าต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโครงการเหล่านั้น”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Beaver families win legal ‘right to remain’
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์