ข้อคิด 4 ประการจากเจน กูดดอลล์ ที่มองปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่ายังมีความหวัง

ข้อคิด 4 ประการจากเจน กูดดอลล์ ที่มองปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่ายังมีความหวัง

* เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) นักสัตววิทยา มานุษยวิทยาและวานรวิทยาชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงจากโครงการศึกษาพฤติกรรมทางสังคมและครอบครัวของชิมแปนซีในประเทศแทนซาเนีย

ฉันเคยยืนอยู่ข้างผู้เฒ่าเผ่าอินูอิตเหนือหน้าผาน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ ในวันที่น้ำแข็งเริ่มค่อยๆ ละลายและภูเขาน้ำแข็งหดหาย ผู้เฒ่าคนนั้นกล่าวกับฉันว่ามันไม่เคยละลายมาก่อน ฉันได้พบเห็นการละลายของธารน้ำแข็งของภูเขาคีรีมันจาโรกับตาของตนเอง ได้มองไฟป่าโหมกระหน่ำในแอฟริกาและแคลิฟอร์เนีย และฉันยังได้เห็นซากสัตว์ป่าที่ตายเพราะภัยแล้ง

ยิ่งฉันเดินทางไปทั่วโลก ผู้คนต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าลักษณะภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาและเธอเผชิญกับเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น ไซโคลนซึ่งรุนแรงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น สาเหตุก็เนื่องจากเราสร้างทลภาวะและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน

เมื่อฉันได้เริ่มทำการวิจัยในกอมบี (Gombe) ประเทศแทนซาเนีย พ.ศ. 2503 พื้นที่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของป่าที่ทอดยาวตลอดแอฟริกา แต่ใน พ.ศ. 2533 ฉันมองลงไปยังพื้นที่แห่งเดิมจากเครื่องบินเล็กแล้วพบว่าป่าถูกตัดให้แหว่งวิ่นไม่ต่างจากเกาะเล็กๆ ล้อมรอบด้วยภูเขาหัวโล้น มีประชากรจำนวนมากเกินไปอยู่อาศัยจนแผ่นดินไม่สามารถรับไหว ต้นไม้ถูกตัดทำลายเพื่อใช้ปลูกพืชอาหารและทำถ่านไม้

เพื่อที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา 4 ประเด็นที่ดูเหมือนว่าจะแก้ไขไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ที่ไม่ยั่งยืน บรรเทาความยากจน ทำลายคอร์รัปชัน และต้องคิดถึงประชากรที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีประชากรโลกราว 7.7 พันล้านคน และภายในอีก 30 ปีข้างหน้า องค์การสหประชาชาติคาดว่าประชากรจะเพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคน หลายคนมองตัวเลขนี้อย่างสิ้นหวัง แต่มันยังพอมีเวลาที่ทำให้ฉันยังคงมีความหวัง

 

ธรรมชาติยังฟื้นตัวได้

แหล่งที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์ต่างๆ ซึ่งกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สามารถฟื้นตัวได้หากให้โอกาส เมื่อฉันรับรู้ถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชนในกอมบี สถาบันเจน กูดดอลล์ (Jane Goodall Institute) เริ่มต้นโครงการที่ชื่อว่า Tacare เพื่อช่วยเหลือและหาทางแก้ไขเพื่อให้การดำรงชีพของประชากรเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการทำให้เขารับรู้ว่าการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่แต่เฉพาะต่อสัตว์ป่า แต่ดีต่อเราเช่นกัน พวกเขาได้กลายเป็นเพื่อนของนักอนุรักษ์ ในวันนี้ Tacare ทำงานใน 6 ประเทศบนทวีปแอฟริกา และภูเขาหัวโล้นในกอมบีก็ไม่มีอีกต่อไป

มันสมองของมนุษย์

จะเป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาญฉลาดที่สุดที่เคยถือกำเนิดขึ้นบนโลกจะทำลายบ้านแห่งเดียวของตนเอง? แต่ดูเหมือนการเชื่อมโยงระหว่างสมองที่แสนชาญฉลาดกับหัวใจของเราจะถูกตัดขาด เราไม่ได้ตั้งคำถามว่าการตัดสินใจของเราในวันนี้จะช่วยเหลือคนรุ่นต่อไปอย่างไร เราเพียงถามว่ามันจะช่วยเราในปัจจุบันอย่างไร ช่วยผู้ถือหุ้นของบริษัทอย่างไร แต่ทุกวันนี้ เราก็ยังคงแสวงหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อทำให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล (ตัวอย่างเช่นพลังงานสะอาด) ชุมชนที่อยู่รอบกอมบีก็ใช้สมาร์ทโฟนและภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อสำรวจพื้นที่ป่า และปันส่วนพื้นที่ในชุมชนเพื่อฟื้นฟูป่าไม้

โซเชียลมีเดีย

เครือข่ายเหล่านี้ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงปัญหาในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉันได้พบเห็นกับตาตัวเองจากการประท้วงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อ พ.ศ. 2557 ประชาชนต่างโพสต์และบอกกล่าวให้คนอื่นๆ ร่วมเดินขบวนไปกับพวกเขา และการเดินขบวนที่คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมราวหนึ่งแสนคน ได้เพิ่มจำนวนเป็นสี่แสนคน

พลังของคนรุ่นใหม่

ฉันได้ริเริ่มโครงการ Roots & Shoots ในปี พ.ศ. 2544 เมื่อฉันรับรู้ว่าคนจำนวนไม่น้อยสูญเสียความหวัง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนไม่ว่าจะระดับอนุบาลหรือมหาวิทยาลัยได้เลือกโครงการเพื่อทำให้โลกดีขึ้นสำหรับสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มีอยู่มรกว่า 50 ประเทศ และผู้เข้าร่วมจำนวนมากต่างทำงานในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากเราร่วมมือกัน มันก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องทำในตอนนี้ ก่อนที่เวลาจะหมดลง

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Jane Goodall: These 4 Issues May Not Seem Related to Climate Change. But They Are and We Need to Solve Them Now
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์