การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ถือเป็นภัยที่กำลังคุกคามความอยู่รอดของ ‘เสือโคร่งสุมาตรา’ และมนุษย์ คือ มหันตภัยใหญ่ที่กำลังคุกคามชีวิตของสัตว์ตระกูลแมวใหญ่เหล่านี้ในปัจจุบัน
ตามรายงานขององค์กรสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่าปัจจุบันมีเสือโคร่งสุมาตราเหลืออยู่ประมาณ 400-500 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นสถานะที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
ในอดีตเสือโคร่งสุมาตราอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าบนเกาะสุมาตรา ชวา และบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย แต่ตอนนี้เหลือเพียงแค่ในพื้นที่ป่าสุมาตราเท่านั้น
ซึ่งมีบ่อยครั้งที่เสือโคร่งต้องเผชิญหน้ากับชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยที่หดน้อยลง ในเวลาเดียวความต้องการหนัง กระดูก หรือฟันของเสือในตลาดมืดก็เป็นแรงผลักดันให้เกิดการล่าเสือมากยิ่งขึ้น
ผู้เขียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ ได้ลงมือจัดทำแผนที่หมู่บ้านในจังหวัดจัมบี บนเกาะสุมาตรา ว่ามีหมู่บ้านใดบ้างที่เสือกับคนจะมีโอกาสมาเผชิญหน้ากันสูง และหมู่บ้านไหนบ้างที่ชาวบ้านมีเพดานความอดทนต่ำเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า
ผู้เขียนอธิบายว่า หมู่บ้านเหล่านี้ควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญโดยโยงเอาความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในการลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ
ไม่มีสิ่งใดจะมาหยุดยั้งการล่า
การล่าเสือในประเทศอินโดนีเซียนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่กฎหมายนี้ไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดการล่าได้ เมื่อชาวบ้านมีความกังวลว่าจะถูกเสือคุกคาม และสัตว์เลี้ยงจะถูกฆ่า ดังนั้น ชาวบ้านจะไม่มีความลังเลใดๆ ในการฆ่าเสือ หากพวกมันโผล่ออกมาให้เห็น
งานวิจัยของ Chris R. Shepherd จาก Monitor Conservation Research Society อธิบายว่า ความต้องการของตลาดการค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ชาวบ้านมีแรงผลักในการฆ่าเสือเพิ่มมากขึ้น หรือกล่าวง่ายๆ ว่า พวกเขาฆ่าเสือเพราะมีเงินเป็นผลแทน
แต่ในมุมที่ต่างออกไป Shonil A. Bhagwat นักวิทยาศาสตร์ จาก Open University กลับคิดว่า วัฒนธรรมและศาสนาสามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่าและยุติการล่าเสือโคร่งสุมาตราลงได้
การเข้าแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือ
ระหว่างปี ค.ศ. 2014-2017 ผู้เขียนและทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากชาวบ้านจำนวน 2,386 คน ใน 72 หมู่บ้านที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Kerinci Seblat จังหวัดจัมบี บนเกาะสุมาตรา จากข้อมูลที่ได้ทีมวิจัยจะนำมาวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ของการเผชิญหน้ากันระหว่างเสือโคร่งกับมนุษย์ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือจึงเกิดขึ้น
ในการวิเคราะห์ข้อมูล ทีมวิจัยอธิบายว่าได้จำลองโมเดลแผนผังชุมชนทั้งหมด เพื่อดูว่าหมู่บ้านในทำเลแบบใดที่มีโอกาสถูกเสือโคร่งคุกคาม แล้วนำไปคิดรวมกับคะแนนความอดทนของชาวบ้านในแต่ละระดับเพื่อผลิตแผนที่ชุมชนออกมา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7-9 ชุมชนที่เป็นกลุ่มความอดทนต่ำและมีความเสี่ยงสูงต่อการเผชิญหน้ากับเสือโคร่ง
ทีมวิจัยอธิบาย การทำข้อมูลหมู่บ้านที่มีความอดทนต่ำแต่มีโอกาสพบกับเสือโคร่งได้สูงถือเป็นงานที่มีความจำเป็นมาก เพื่อกำหนดว่าจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างไร
ตามแบบจำลอง ถ้าหากนักอนุรักษ์สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ จะสามารถลดการเผชิญหน้ากับเสือลงได้ 54% นั่นหมายถึงการรักษาชีวิตเสือโคร่งได้ถึง 15 ตัว หรือคิดเป็น 10% ของประชากรเสือทั้งหมดที่มีอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Kerinci Seblat ซึ่งนับได้ประมาณ 122-179 ตัว
งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวมานี้ได้เผยแพร่ผ่านทาง Nature Communication โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเอ็นจีโอและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ใช้เวลาเก็บข้อมูลภาคสนามนาน 13 ปี เพื่อบันทึกการเผชิญหน้าระหว่างคนเสือและโปรไฟล์ทางภูมิศาสตร์
ความอดทนระหว่างสิ่งมีชีวิต
ในงานวิจัย ทีมผู้ศึกษาพยายามทำความเข้าใจความอดทนของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ป่าว่าสามารถควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นคือกุญแจสำคัญในการควบคุมความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าที่อันตรายอย่างเสือ
ทีมวิจัยพยายามค้นหาปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการล่าเสือโคร่ง โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียงกับพื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมองหาความน่าจะเป็นในความตั้งใจที่มีต่อการล่าเสือ
นักวิจัยพบว่าความตระหนักต่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับยับยั้งไม่ให้มีการล่าสัตว์ และยังพบอีกว่าในพื้นที่จังหวัดอาเจะฮ์ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับอิทธิพลทางความเชื่อ มีบรรทัดฐานทางสังคมมาจากคำสอนและผู้นำทางศาสนา – นักวิจัยมองว่า ความเชื่อตรงจุดนี้จะสามารถชี้นำประชาชนให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้มากขึ้น
ปกติแล้วคนในท้องถิ่นจะออกล่าเสือเมื่อพวกเขาเห็นว่าเสือเข้ามาโจมตีสัตว์ที่เลี้ยงไว้หรือเพื่อนบ้านข้างเคียง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีคนที่ต้องการปกป้องเสือเช่นกัน สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ชุมชนมีทัศนคติในเชิงอนุรักษ์อยู่
ขณะเดียวกันระดับของความอดทนต่อการคุกคามจากสัตว์ป่า เป็นผลมาจากทัศนคติ อารมณ์ บรรทัดฐาน และความเชื่อทางจิตวิญญาณของผู้คนด้วยเช่นกัน
ซึ่งมีงานวิจัยที่สามารถอธิบายได้ว่า ทัศนคติและจิตวิญญาณตามบรรทัดฐานจารีตประเพณีสามารถกำหนดถึงความอดทนได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น Jet Bakels นักมานุษยวิทยา พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีนังกาเบา และเครินชิ มีความเชื่อว่า วิญญาณของบรรพบุรุษของพวกเขาอยู่ในเสือ และเหตุผลที่เสือทำร้ายมนุษย์นั้นเป็นเพราะผู้คนละเมิดกฎหมายจารีตประเพณี
ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ความอดทนต่อเสือที่ต่ำลง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพวกเขาถูกเสือคุกคาม ดังนั้น แม้ว่าจะมีความเชื่อที่ทำให้พวกเขาสามารถอดทนต่อเสือได้มากแค่ไหน แต่เมื่อพวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากเสือ ความอดทนของพวกเขาก็จะค่อยๆ ลดต่ำลง
ทีมวิจัยใช้แบบจำลองทางจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจว่า ผู้คนใช้อะไรตัดสินใจ และบรรทัดฐานทางความเชื่อจะมีอิทธิพลในการสนับสนุนให้นักอนุรักษ์เข้ามามีส่วนร่วมได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า บรรทัดฐาน จารีต และประเพณี สามารถนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนได้
ทีมวิจัยยังพบว่า ความมีส่วนร่วมทางอารมณ์ของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ วิธีหนึ่งที่จะนำมาใช้ คือ การเชิญบุคคลที่ชุมชนให้ความเคารพเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ แรงผลักดันภายในชุมชนตรงนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน และนำมาซึ่งทัศนคติเชิงบวกต่องานอนุรักษ์ได้
การบูรณาการแบบสหวิทยาการ
การนำสหวิทยาการมาใช้ในการวิจัยมีความสำคัญต่อทีมวิจัยมาก ทำให้ทีมวิจัยสามารถรวบรวมข้อมูลในมิติต่างๆ ทั้งทางสังคม และนิเวศวิทยา เพื่อนำมาออกแบบวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับสัตว์ป่า
ยิ่งโดยเฉพาะกับสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่ง การคุกคามระหว่างสายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นได้เพราะที่อยู่อาศัยที่ลดลง แต่ที่สุมาตราจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับเสือ
ทุกวันนี้มีการใช้เงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ทุ่มลงไปในงานอนุรักษ์ตลอดทั้งปี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งยังรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายด้านปศุสัตว์
การศึกษาในครั้งนี้ได้ให้คำแนะนำบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ว่าการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ควรทำเช่นไร
การปรับปรุงเศรษฐกิจสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือสามารถช่วยลดความขัดแย้งของการเผชิญหน้าตรงนั้นลงได้ ในขณะเดียวกันนักอนุรักษ์ก็ต้องรู้จักการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานอนุรักษ์ให้เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เดินควบคู่ไปด้วยกัน