การระบาดของ COVID-19 อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การระบาดของ COVID-19 อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดูเหมือนว่ามีโอกาสมากขึ้นที่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปีนี้ จากปัญหาด้านสาธารณสุขที่ทำให้ การเดินทาง การค้าขาย และเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก แต่ถ้าคุณคิดว่าการระบาดของ COVID-19 ที่ฆ่าคนไปแล้วเกือบแสน และทำให้อีกหลายล้านคนไม่สามารถออกไปไหนได้ จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริง ๆ คุณคิดผิดแล้ว

ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง และเศรษฐกิจก็แย่ลง เช่น สงครามโลก แต่หลังจากนั้นปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็เพิ่มกลับขึ้นมา จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แถมข่าวร้ายคือเงินที่เคยมีไว้สนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อน ถูกย้ายไปสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแทน

แต่จริง ๆ แล้วในช่วงเวลานี้เราก็จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อระงับการระบาดของ COVID-19 เป็นอันดับแรก เนื่องจากอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน ความน่ากลัวของ COVID-19 ที่ติดต่อกันได้ง่ายนั้นสูงมาก ถ้าเหตุการณ์ COVID-19 นั้นยืดเยื้อ มันจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้มีความลำบากมากขึ้น เช่น

  • เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ที่สนับสนุนทุนก็จะสนับสนุนน้อยลงในด้านที่พวกเขาเห็นว่ามีความจำเป็นน้อย เช่น ทุนสำหรับบริษัท หรือหน่วยงานวิจัยเทคโนโลยี ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ เทคโนโลยีพลังงานลม และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์
  • ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมากเนื่องจากความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มโอเปก และประเทศรัสเซีย ซึ่งการที่น้ำมันราคาถูกส่งผลให้รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้านั้นขายได้ยากขึ้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้หุ้นของบริษัท Tesla ตก
  • จีนเป็นประเทศหลักในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมไปถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่าง ๆ เช่น แผงโซล่าร์เซลล์ กังหันสำหรับพลังงานลม และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้กำลังเผชิญปัญหาทั้งด้านทรัพยากรการผลิต และโปรเจคพลังงานสะอาดที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่ดี และการระงับการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
  • ความกลัวในด้านสุขภาพ และด้านการเงินที่มีมากขึ้นทำให้หลาย ๆ คนเริ่มที่จะลืมนึกถึงปัญหาโลกร้อนไป ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ปัญหาโลกร้อนนั้นเป็นที่สนใจมากขึ้นสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ มีการออกมารณรงค์อย่างมากจากทั้งเยาวชน และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่คอยกดดันนักการเมืองให้ออกมาแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง แต่ท่ามกลางความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ทำให้ผู้คนหันมาใช้ทุนเพื่อสร้างความมั่นใจในด้านสุขภาพให้ตัวเองมากขึ้น เช่น การเก็บออมสำหรับค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น และการใช้ทุนไปกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่วนโปรเจคสำหรับช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นอาจจะถูกเลื่อนไปก่อน

แต่มันก็ยังมีวิธีการสำหรับโต้ตอบต่อเหตุการณ์ข้างต้นได้ เช่น

  • การลดลงของราคาน้ำมันดิบ ทำให้การลงทุนในระยะยาวกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นต่อนักลงทุนด้านพลังงาน และในบางประเทศรัฐบาลอาจจะต่อสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนเงินกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อเป็นการปรับตัวและลดโอกาสในการเกิดภัยธรรมชาติจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
  • การระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อพฤติกรรมการใช้พลังงาน และปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของมนุษย์ โดยความกลัวต่อโรค COVID-19 ยังคงค้างคาใจกับคนบางคนทำให้เกิดการกลัวต่อการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ หรือบางคนอาจหันมาชอบอิสระกับการทำงานอยู่ที่บ้าน และการประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ การที่มนุษย์ถูกบังคับให้เปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างรวดเร็วจากการระบาดของโลกทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนเราส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ และคำถามต่อมาคือ “คุณจะยอมเปลี่ยนมั้ย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิก Gernot Wagner จากคณะสิ่งแวดล้อมศึกษา ณ New York University กล่าวว่าเราควรจะต้องระมัดระวังต่อวิกฤติการณ์อื่น ๆ ที่กำลังจะตามมา ซึ่งอาจจะสาหัสกว่าวิกฤติ COVID-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้

Gernot Wagner กล่าวต่อว่า “การปล่อยมลพิษที่ลดลงในตอนนี้เป็นเพราะว่าเศรษฐกิจในบางประเทศได้หยุดชะงักลง และตอนนี้ผู้คนกำลังจะตายไม่ใช่แค่เพราะไวรัส แต่เพราะการขาดรายได้ซึ่งทำให้ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่ายารักษาหรือแม้แต่ค่าอาหารในการประทังชีวิต และสิ่งนี้ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงก็จริง แต่นี่ไม่ใช่วิธีที่มันควรจะเป็น”

แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการแก้ปัญหาโลกร้อนคือการป้องกันความทุกข์ความตาย และการสูญพันธุ์ของทุก ๆ สายพันธุ์รวมถึงมนุษย์ด้วย มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องคำนึงถึงทั้งปัญหาที่ส่งผลกระทบในระยะสั้น และระยะยาว ผู้คนต่างได้รับความยากลำบากอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะทำที่สุดในตอนนี้คือการยับยั้งการระบาด และการดูแลผู้ติดเชื้ออย่างเหมาะสม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Why the coronavirus outbreak is terrible news for climate change
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร