รายงานระบุว่า การจัดการขยะที่ผิดพลาดเป็นสาเหตุการตายของประชากรหลายแสนคนในประเทศกำลังพัฒนา โดยวิธีการป้องกันไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ ขยะพลาสติกยังเพิ่มความรุนแรงของปัญหาอีกด้วย
ขยะในระดับท้องถิ่นมักไม่ได้จัดเก็บอย่างเป็นระบบในประเทศที่ยากจน และมักกลายเป็นต้นตอการแพร่กระจายของโรคภัยไข้เจ็บ การศึกษาขององค์กรไม่แสวงหากำไร Tearfund ระบุว่าประชาชน 400,000 ถึง 1 ล้านคนเสียชีวิตในแต่ละปีเนื่องจากการจัดการขยะที่ผิดพลาด
ปัญหาดังกล่าวมีมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ ประเด็นมลภาวะพลาสติกซึ่งไม่ย่อยสลายในธรรมชาติได้ซ้ำเติมปัญหาดังกล่าว ขยะพลาสติกนั้นขวางเส้นทางน้ำและเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ การเผาขยะพลาสติกเพื่อกำจัดยังก่อให้เกิดสารอันตรายและกลายเป็นมลภาวะทางอากาศอีกทอดหนึ่ง
ทุกวินาที ขยะพลาสติกปริมาณเทียบเท่ารถบัสสองชั้นกำลังถูกเผาหรือทิ้งในประเทศกำลังพัฒนา พลาสติกบางประเภทที่ย่อยสลายได้ก็จะปล่อยสารเคมีอันตรายสู่ธรรมชาติ และอาจย่อยสลายเปลี่ยนแปลงสู่พลาสติกจิ๋ว หรือไมโครพลาสติก ซึ่งผลกระทบของการปนเปื้อนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แต่เรามีข้อมูลผลกระทบน้อยมากจากประเทศที่ยากจน
Sir David Attenborough ผู้ผลิตรายการสารคดี Blue Planet II ดึงความสนใจจากทั่วโลกมายังปัญหาขยะพลาสติก และเรียกร้องให้มีการจัดการอย่างเร่งด่วนต่อบริษัทที่ผลิตพลาสติกที่มีปลายทางคือการเป็นขยะ รวมถึงขอให้สนับสนุนกลุ่มประเทศที่เผชิญกับปัญหามลภาวะครั้งแล้วครั้งเล่า
“ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่เราจะต้องหันหน้าเข้าแก้ไขปัญหาที่หนักหนาของยุคปัจจุบัน นั่นคือวิกฤตการณ์มลภาวะพลาสติก ไม่ใช่เพียงเพื่อสุขภาพที่ดีของโลกเรา แต่ยังรวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก” เขาให้สัมภาษณ์ “รายงานฉบับนี้นับว่าเป็นชิ้นแรกๆ ที่ฉายภาพอย่างชัดเจนถึงผลกระทบจากมลภาวะพลาสติก ที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลรุนแรงต่อประชาชนที่ยากจนที่สุดในโลกอีกด้วย”
ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของมลภาวะพลาสติกคือการสูญเสียพื้นที่จับสัตว์น้ำ เนื่องจากสัตว์ทะเลจะกลืนพลาสติกเข้าไป นอกจากนี้ พลาสติกยังส่งผลต่อการเกษตรโดยราว 1 ใน 3 ของโคเลี้ยง และครึ่งหนึ่งของแกะกินพลาสติกเข้าไปในระดับที่มีนัยสำคัญจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจทำให้ท้องอืดอย่างรุนแรง ขยะพลาสติกจำนวนมากพัดพาเข้าสู่ชายฝั่งและแนวปะการัง ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงซึ่งบางชุมชนต้องพึ่งพาแหล่งรายได้จากนักท่องเที่ยวเหล่านี้อย่างยิ่ง
ในขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่มักจะพุ่งตรงไปยังผลกระทบจากมลภาวะพลาสติกในทะเลต่อธรรมชาติ เราอาจมองข้ามผลกระทบต่อมนุษย์ซึ่งร้ายแรงไม่ต่างกัน ขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลทุกปี อ้างอิงจากรายงานของสหประชาชาติ และเป็นการยากมากที่จะพยายามเก็บกู้พลาสติกเหล่านั้นออกจากมหาสมุทร
เมื่อไม่นานมานี้ หลายประเทศทั่วโลกยกเว้นสหรัฐอเมริกาได้ร่วมลงนามตามแผนการณ์ของสหประชาชาติในการลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะไหลบ่าสู่ประเทศกำลังพัฒนา ถึงแม้ว่าเราจะเห็นสัญญาณดีจากหลายบริษัทในภาคเอกชนที่ต้องการแก้ไขปัญหา แต่ในมุมของผู้รณรงค์ ความพยายามดังกล่าวไม่ต่างจากหยดน้ำในมหาสมุทร
“เราต้องการผู้นำซึ่งรับผิดชอบในการส่งพลาสติกไปยังประเทศที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการขยะดังกล่าว และเราต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อสนับสนุนชุมชนหรือรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติครั้งนี้” Sir David Attenborough กล่าวเสริม
ประชากรอย่างน้อย 2 พันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงระบบการจัดเก็บขยะที่ดี กองขยะอาจไปท่วมอยู่ในเส้นทางน้ำ กลายเป็นมลภาวะ หรือเน่าเสียอยู่ในบริเวณที่ประชาชนอยู่อาศัย การอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับกองขยะจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคท้องร่วงถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา
ประชากรหลายแสนคนทั่วโลกมีอาชีพเก็บขยะ เช่น กระป๋อง หรือขวด ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลหรือคืนไปยังผู้ผลิต คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในกองขยะ และยังชีพด้วยขยะที่หาได้จากกองขยะนั้น อาชีพดังกล่าวนับว่าอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงคนเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางกายภาพ กองขยะที่ขาดการจัดการที่ดีมักเสี่ยงต่อการถล่ม หรือการระเบิดเนื่องจากแก๊สที่หมักหมม
Ruth Valerio ผู้อำนวยการองค์กร Tearfund ระบุว่าองค์กรกำลังเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งผลิตขยะจำนวนมหาศาลเช่น Coca-Cola Nestle PepsiCo และ Unilever มีส่วนในการรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของพวกเขาตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และหาแนวทางการจัดการขยะเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น