เป็นเวลาเกือบ 9 ปีหลังจากหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ ฟุกุชิมา แต่ธรรมชาติกลับสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ภายในเวลาไม่นาน
ถึงแม้ว่าจะมีรังสีที่เป็นอันตราย แต่มีการศึกษาพบว่าเพียงมนุษย์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวก็เพียงพอที่จะทำให้ประชากรสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ 5 ปีภายหลังการอพยพครั้งใหญ่เพื่อออกจาก ฟุกุชิมา พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นบ้านของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวนมาก
จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายสัตว์ป่ากว่า 267,000 ภาพ นักวิจัยสามารถระบุได้ 20 ชนิดพันธุ์ในพื้นที่ห้ามอาศัย (Uninhabitable Zone) อาทิ หมูป่า กระต่ายญี่ปุ่น ลิงกังญี่ปุ่น ไก่ป่า สุนัขจิ้งจอก และจิ้งจอกแร็กคูน
“ผลการศึกษาสรุปว่าจำนวนสัตว์ป่าในเขตอพยพจากภัยพิบัติฟุกุชิมามีจำนวนมากถึงแม้ว่าจะยังมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี” เจมส์ บีสลีย์ (James Beasley) นักชีววิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียกล่าว “เรายังพบว่ามีสัตว์สามชนิดพันธุ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังมนุษย์อพยพออกไป”
การศึกษาชิ้นนี้เน้นไปที่พื้นที่ 3 แห่งรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา คือพื้นที่ที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูงอย่างยิ่งและยังห้ามไม่ให้มนุษย์เข้าไป พื้นที่ที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนปานกลางและอนุญาตให้มนุษย์เข้าไปชมได้อย่างจำกัด และพื้นที่ที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนน้อยและเปิดให้มนุษย์เข้าไปได้ จากกล้อง 120 ตัว ผู้วิจัยไม่พบผลกระทบจากกัมมันตรังสีต่อชุมชนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก
ที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่มักเน้นไปที่การระบุชนิดพันธุ์และสุขภาพของสัตว์แต่ละตัว แต่งการศึกษาชิ้นนี้เป็นเพียงไม่กี่ชิ้นที่พิจารณาถึงจำนวนประชากรในภาพรวม ทีมวิจัยระบุว่าข้อมูลที่พบนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญยิ่งซึ่งระบุว่าการที่มนุษย์อพยพออกจากพื้นที่อาจส่งผลต่อจำนวนประชากรสัตว์ป่ามากกว่าการเผชิญกับสารกัมมันตภาพรังสี
เช่นเดียวกับพื้นที่เชอร์บิลที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งอาศัยของหมีสีน้ำตาล ควายป่าไบซัน หมาป่า ลิงซ์ ม้าป่าเปรวาสกี้ และนกอีกกว่า 200 ชนิดพันธุ์ สัตว์ป่าก็อพยพกลับมายังพื้นที่ฟุกุชิมะในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมนุษย์ถูกจำกัดไม่ให้เข้าถึง ตัวอย่างเช่นหมูป่า ซึ่งมีจำนวนประชากรในพื้นที่ซึ่งห้ามมนุษย์เข้าสูงกว่าพื้นที่ซึ่งมนุษย์ควบคุมอยู่ถึง 4 เท่า
“คล้ายคลึงกับหมูป่า มีการพบจำนวนประชากรแรคคูนซึ่งเป็นสัตว์ทานอาหารได้หลายประเภท เช่นเดียวกับลิงกังญี่ปุ่น สถานการณ์ดังกล่าวอาจสามารถอธิบายได้โดยปัจจัยการใช้ทรัพยากรอย่างเข้มข้นจากการพัฒนาพื้นที่ชนบทและการใช้พื้นที่ป่า” ในทางกลับกัน ระดับกัมมันตรังสีกลับมีผลต่อการกระจายตัวของชนิดพันธุ์เหล่านี้น้อยมาก
“สภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่แตกต่างกันตั้งแต่หุบเขาไปจนถึงชายฝั่ง เราทราบดีว่าที่อยู่อาศัยเหล่านี้เหมาะสมกับชนิดพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราได้รวมเอาปัจจัยด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ ระดับความสูง และระบบนิเวศเข้าไปในการวิเคราะห์ด้วย” เจมส์ บีสลีย์อธิบาย “จากการวิเคราะห์พบว่าระดับของกิจกรรมมนุษย์ ความสูง และที่อยู่อาศัย คือปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์ไม่ใช่ระดับกัมมันตรังสี”
อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ประเมินสุขภาพของสัตว์แต่ละชนิดพันธุ์ หากสัตว์เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสีมันก็ไม่ได้แสดงออกมาผ่านจำนวนประชากรในระยะยาว
ถอดความและเรียบเรียงจาก Cameras Show Animals Thriving in Fukushima’s ‘Uninhabitable’ Radioactive Zone
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์