นักอนุรักษ์เตือนโคโรน่าไวรัสมีความเสี่ยงระบาดสู่กอริลลาภูเขาในแอฟริกา และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงอาจทำให้เกิดการล่าสัตว์เพิ่มมากขึ้น
.
อุทยานแห่งชาติวิรุงกาในสาธารณะรัฐประชาธิปไตยคองโก ถือเป็นถิ่นอยู่อาศัยสำคัญของลิงกอริลลาประมาณหนึ่งในสามของโลก ได้ประกาศหยุดกิจกรรมเที่ยวชมกอริลลาภูเขายาวถึงวันที่ 1 มิถุนายน โดยอ้างตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาระบุว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวมถึงลิงกอริลลามีโอกาสติดไข้หวัดโควิด-19 ได้ไม่ต่างคน
กอริลลาภูเขาเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกับที่เป็นมนุษย์เป็น และโรคไข้หวัดสามารถฆ่าลิงกอริลลาได้ (อ้างอิงตามรายงาน World Wide Fund for Nature) ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าใกล้ลิงกอริลลาระหว่างเข้าชมมากเกินไป
ปัจจุบันมีกอริลลาภูเขาอยู่ราว 1,000 ตัว อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองของประเทศคองโก ยูกันดา และรวันดา ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้สำคัญ ทว่าการระบาดของโควิด-19 ได้นำไปสู่การออกมาตรการป้องกันที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
การตัดสินใจปิดการท่องเที่ยวชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติวิรุงกา ได้รับเสียงสนับสนุนที่ดีจากนักอนุรักษ์ในภูมิภาค
Paula Kahumbu หัวหน้าผู้บริหารของกลุ่มอนุรักษ์ Wildlife Direct จากประเทศเคนยา กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้” เพื่อปกป้องกอริลลาภูเขาที่เหลืออยู่น้อยมากในธรรมชาติ
“เรารู้ว่ากอริลลานั้นไวต่อโรคของมนุษย์มาก” นักอนุรักษ์กล่าว “ถ้าใครมีอาการป่วยหรือเป็นไข้หวัดพวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมกอริลลา และด้วยโคโรน่าไวรัสที่อาจไม่แสดงอาการในบางกรณี ก็หมายความว่ายิ่งทำให้กอริลลามีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการที่มีอยู่อาจยังไม่ดีพอสำหรับการปกป้องสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นี้
Gladys Kalema-Zikusoka สัตวแพทย์ชาวยูกันดาและผู้ก่อตั้ง Conservation Through Public Health ได้ทำงานวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวชมกอริลลาภูเขาร่วมกับมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ให้ความเห็นว่า “มาตรการในการปกป้องกอริลลาจากมนุษย์นั้นไม่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ”
เกือบทุกครั้งนักท่องเที่ยวมักละเมิด “กฎการรักษาระยะห่าง”
“สิ่งที่พบในงานวิจัยคือ กฎการรักษาระยะห่าง 7 เมตรนั้นแทบไม่ได้รับความร่วมมือเกือบตลอดเวลา หรือราว 98% ของเวลาทั้งหมดในการเข้าชม” เธอกล่าว “แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 60% มาจากนักท่องเที่ยวที่ไม่สนใจกฎ และ 40% เป็นการละเมิดกฎที่เกิดจากลิงกอริลลาเอง”
สัตวแพทย์ชาวยูกันดา เสนอว่า หากไม่สามารถป้องกันปฏิสัมพันธ์ด้วยการรักษาระยะห่าง มาตรการอย่างหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงความปลอดภัยได้ คือ ให้นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากตลอดเวลาเข้าชม
ในประเทศยูกันดา ณ ขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวอย่างคองโก แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปและที่อื่นๆ จะลดน้อยลงก็ตาม
Bashir Hangi โฆษกองค์การสัตว์ป่าในยูกันดากล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องจะหยุดการท่องเที่ยวหรือไม่ในตอนนี้เป็นเรื่องทางวิชาการ เนื่องจากแทบจะไม่มีกิจกรรมท่องเที่ยวเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของไวรัสอยู่แล้ว
ถึงกระนั้น โฆษกองค์การสัตว์ป่า ก็กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มาต้องได้รับการตรวจคัดกรองอาการไข้หวัดและอาการอื่นๆ และต้องปฏิบัติตามกฎ เช่น ไม่เข้าใกล้กอริลลาในระยะเกิน 7 เมตร ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสและผ่านการกักกันของยูกันดาแล้ว ต้องมีเอกสารรับรองการแยกตัวมาแสดงก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าชมกอริลลา
Amos Wekesa จาก Great Lakes Safaris กลุ่มจัดทัวร์ชมกอริลลาในรวันดาและยูกันดา กล่าวว่า ตอนนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวกำลังซบเซา นักท่องเที่ยวขอเลื่อนทัวร์หรือไม่ก็ขอเรียกคืนเงินค่าใช้จ่ายล่วงหน้ากันทั้งนั้น
ประชากรกอริลลาภูเขาของภูมิภาคแอฟริกาลดลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการล่า โรคภัยไข้เจ็บ และการบุกรุกที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ กอริลลาภูเขาถูกระบุว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งหรือใกล้สูญพันธุ์ตั้งแต่ปี 1996 ถึงแม้จำนวนประชากรในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความพยายามในการอนุรักษ์ แต่ก็ยังเกิดการสูญเสียดำเนินควบคู่กันมาตลอด
กอริลลาบางตัวเสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น ตกลงมาจากต้นไม้ หรือถูกฆ่าตายในการต่อสู้ระหว่างตัวผู้เพื่อแย่งดินแดนและขึ้นเป็นจ่าฝูง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีกอริลลาภูเขา 4 ตัว ตายเพราะถูกฟ้าผ่า
ในรวันดา การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองกอริลลาในทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่การจัดกิจกรรมตั้งชื่อให้ลูกกอริลลาเกิดใหม่
ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกุญแจสำคัญในการอนุรักษ์กอริลลาภูเขา เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถนำรายได้บางส่วนไปช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น หรือจัดทำโครงการเพื่อยุติการล่า ใบอนุญาตในการทำทัวร์ลิงกอริลลามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐในยูกันดา ส่วนในรวันดามีมูลค่าถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ
อุทยานแห่งชาติวิรุงกา ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองขึ้นในปี ค.ศ. 1925 นับเป็นอุทยานแห่งชาติที่แรกของทวีปแอฟริกา และปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก
บางคนกังวลว่าการสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส อาจนำไปสู่การล่าสัตว์อีกครั้ง ซึ่งความเสี่ยงนี้มีมานานจากความไม่สงบในพื้นที่คองโกตะวันออก
นักอนุรักษ์ได้เรียกร้องถึงรัฐบาลตลอดจนถึงผู้บริจาคให้ช่วยสนับสนุนอุทยานแห่งชาติในแอฟริกา เพื่อช่วยให้อุทยานแห่งชาติสามารถดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่กำลังปิดตัว
พรานล่าสัตว์จะสร้างความเสียหายให้กับลิงกอริลลาได้มากยิ่งขึ้น หากพวกเขารู้ว่ามาตราการในการป้องกันกำลังลดลงPaula Kahumbu หัวหน้าผู้บริหารของกลุ่มอนุรักษ์ Wildlife Direct กล่าวเป็นข้อสังเกตทิ้งท้าย