โลกต้องการต้นไม้อีก 5 แสนล้านต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โลกต้องการต้นไม้อีก 5 แสนล้านต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มีงานศึกษาหลายชิ้นที่กล่าวเอาไว้ว่า การปลูกต้นไม้อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คำถามคือ เราจำเป็นต้องปลูกต้นไม้เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ลงได้

การศึกษาชิ้นใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Science ให้คำตอบเอาไว้ว่า เราต้องการต้นไม้อีกประมาณ 5 แสนล้านต้นเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และโลกเรายังมีพื้นที่พอสำหรับการปลูกป่าใหม่ในจำนวนที่ว่า

โดยการศึกษาจากทีมนักวิจัยชาวสวิสเซอร์แลนด์ได้ทดลองประเมินพื้นที่ทั้งหมดบนโลกว่าสามารถเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าใหม่ได้เท่าไหร่ (ตามความเป็นไปได้) ซึ่งหักล้างพื้นที่ป่าที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน พร้อมตัดพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่ชุมชนเมืองออกไปทั้งหมด

จากการคำนวณพบว่า มีที่ดินเกือบ 1 พันล้านไร่บนโลกที่สามารถปลูกป่าขึ้นมาใหม่ได้ และหากสมมติฐานนี้เกิดขึ้นได้จริง โลกของเราจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งในสามจากที่มีอยู่ และจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศมากถึง 25% หรือประมาณ 200 กิกะตัน คิดเป็นสองในสามที่มนุษย์ปล่อยสู่บรรยากาศนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม

“ถ้าเราลงมือทำในตอนนี้ จะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้มากถึง 25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่ปรากฎเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา” Tom Crowther หนึ่งในทีมศึกษากล่าว

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสม ในการศึกษาพบว่า ประเทศอย่างรัสเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล และจีน มีปริมาณพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกป่าเพิ่มเป็นลำดับต้นๆ ของโลก

แม้ในการศึกษา นักวิจัยจะตัดเอาพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์อยู่แล้วออกไป แต่ทีมงานได้กล่าวเสริมว่า พื้นที่ปศุสัตว์ก็อาจปลูกต้นไม้เพิ่มได้ แม้จะปลูกเพียงไม่กี่ต้นแต่ต้นไม้ก็มีประโยชน์ต่อฝูงสัตว์ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นแผนงานระยะยาวเนื่องจากจำเป็นต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ ไล่มาตั้งแต่มาฟื้นฟูดินให้เหมาะสมแก่การเติบโต และกว่าต้นไม้เติบโตจนเกิดความหลากหลายของระบบนิเวศขึ้นในป่าใหม่ อาจต้องใช้เวลานานถึง 100 ปี กว่าที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ตรงตามเป้าหมาย

ขณะเดียวกัน นักวิจัยยังเห็นว่า การปลูกป่าใหม่อาจไม่ใช่คำตอบที่มีประสิทธิภาพที่สุดหรือแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดหากเราไม่สามารถปกป้องป่าดั้งเดิมให้คงอยู่ได้ หรือไม่สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้

แต่ถึงกระนั้นทีมนักวิจัยก็ยังยืนยันว่า สิ่งที่พวกเขาเสนอเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเป้าหมายเดิมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ที่กล่าวไว้เมื่อปี 2561 ว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 1 พันล้านเฮกตาร์ทั่วโลกภายใน พ.ศ. 2593 จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ถึง 1.5 องศาเซลเซียส

การศึกษาชิ้นนี้คือเครื่องยืนยันว่า มันเป็นสิ่งที่สามารถลงมือทำได้เลยในทันที และจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดี๋ยวนี้

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้มีนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งที่มีความเห็นต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นที่คิดว่าป่าใหม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 25% อาจเป็นการประเมินที่สูงเกินไป

สิ่งที่จำต้องยอมรับในปัจจุบันนี้ว่าโลกของเรากำลังเดินไปในทิศทางที่ไม่เป็นมิตรกับป่าเลยแม้แต่น้อย เช่นในสถิติล่าสุดพบว่า ผืนป่าอเมซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นสูงถึง 60% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วในทุกๆ นาที ผืนป่าจะหายไปเท่ากับพื้นที่ 1.5 ของสนามฟุตบอล ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกทุกๆ ปีมีต้นไม้ถูกโค่นลงราว 15 ล้านต้นต่อปี และโลกได้สูญเสียต้นไม้ไปแล้ว 46% นับตั้งแต่อารยธรรมของมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้น

 


เรียบเรียง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง
Plant trees to mitigate climate change, urge scientists
Planting trees could make a huge dent in our growing climate crisis. But we’d need to cover an area the size of the US, starting right now.