แร้งคอนดอร์แอนดีสสามารถบินเป็นระยะทางกว่า 160 กิโลเมตรโดยไม่ต้องกระพือปีก

แร้งคอนดอร์แอนดีสสามารถบินเป็นระยะทางกว่า 160 กิโลเมตรโดยไม่ต้องกระพือปีก

แร้งคอนดอร์แอนดีส นกบินร่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีความยาวระหว่างปีกถึง 3 เมตรและมีน้ำหนักมากถึง 15 กิโลกรัมทำให้ขึ้นแท่นนกบินร่อนที่มีน้ำหนักตัวมากที่สุดเช่นกัน งานวิจัยชิ้นล่าสุดฉายภาพให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพในการบินร่อนที่สามารถลอยตัวเหนือกระแสลมโดยไม่จำเป็นต้องกระพือปีกเป็นเวลาหลายชั่วโมง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ติดตั้งเครื่องบันทึกที่ชื่อว่า “สมุดบันทึกประจำวัน” กับนกแร้งคอนดอร์แอนดีสจำนวน 8 ตัวที่พาตาโกเนีย (Patagonia) เพื่อบันทึกความถี่ของการกระพือปีกในเวลาการบินกว่า 250 ชั่วโมง

สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบนับว่าน่าประหลาด เพราะเหล่านกนั้นใช้เวลาเพียงราว 1 เปอร์เซ็นต์บนอากาศในการกระพือปีก ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นช่วงเวลาเริ่มออกบิน นกตัวหนึ่งสามารถบินต่อเนื่องได้กว่า 5 ชั่วโมง และมีระยะการบินกว่า 160 กิโลเมตรโดยไม่จำเป็นต้องกระพือปีกสักครั้งเดียว

“แร้งคอนดอร์เป็นนักบินชั้นยอด แต่เราไม่คาดว่ามันจะเชี่ยวชาญในการจับกระแสลมมากเท่านั้น” อาจารย์ Emily Shepard หนึ่งในทีมวิจัย และนักชีววิทยาจาก Swansea University ในเวลส์แสดงความเห็น ผลการวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences.

“ข้อค้นพบที่ว่าแร้งคอนดอร์แทบไม่กระพือปีกในการบิน เพียงแต่ร่อนไปตามกระแสลมนั้น เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก” David Lentink ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของนักจาก Stanford University ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยชิ้นดังกล่าวให้สัมภาษณ์

สำหรับเหล่านก ท้องฟ้าไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าแต่คือภูมิทัศน์ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ที่มองไม่ห็นด้วยตาเปล่า ลมหมุน กระแสลมอุ่นที่เคลื่อนตัวขึ้น และกระแสลมที่พัดขึ้นซึ่งเกิดจากสันฐานทางภูมิศาสตร์บนพื้นดินเช่นภูเขา

การเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากกระแสลม ทำให้นกบางชนิดสามารถบินเป็นระยะทางไกลได้โดยไม่ต้องลำบากกระพือปีก

Bret Tobalske ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของนกจาก University of Montana ระบุว่านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสัตว์บินได้จะจำแนกการบินออกเป็นสองประเภท บินแบบกระพือปีก และบินแบบร่อน ความแตกต่างก็คงคล้ายกับการปั่นจักรยานขึ้นเขากับการปล่อยให้สองล้อและแรงโน้มถ่วงทำงานตอนลงเขา 

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่านกกระสาขาวและเหยี่ยวออสเปรย์กระพือปีกราว 17 เปอร์เซ็นต์ และ 25 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับในระหว่างการอพยพทางไกล

ความเชี่ยวชาญในการร่อนของแร้งคอนดอร์แอนดีสมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตนักกินซากซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงในการบินวนรอบภูเขาสูงเพื่อหาซากกินเป็นอาหาร Sergio Lambertucci นักชีววิทยาจาก National University of Comahue หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

“หากคุณเห็นแร้งคอนดอร์บินเป็นวงกลม พวกมันกำลังใช้ความได้เปรียบจากกระแสลมร้อนที่พัดขึ้นข้างบน” เขาระบุ

เครื่องบันทึกที่ติดอยู่กับนกนั้นถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้หลุดเองหลังจากเวลาผ่านไปราวหนึ่งสัปดาห์ การเก็บเครื่องมือเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย “บางครั้ง เครื่องบันทึกเหล่านั้นตกอยู่ในรังเหนือหน้าผาขนาดใหญ่กลางภูเขาแอนดีส เราต้องใช้เวลาร่วมสามวันเพื่อเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว” Sergio Lambertucci กล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Andean condor can fly for 100 miles without flapping wings
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์