การปิดเมืองและจำกัดการเดินทางทำให้เมืองใหญ่หลายเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เห็นท้องฟ้าสีสดใส เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้สูดหายใจอากาศปลอดมลภาวะ
องค์การอนามัยโลกระบุว่ามลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควรของประชากร 800,000 คนทั่วโลกในแต่ละปี ภาวะฟ้าใสแบบชั่วคราวนี้เน้นย้ำให้เห็นว่าภูมิภาคพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมพลังงานและการขนส่งมากเพียงใด รวมถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับมลภาวะดังกล่าว
การศึกษาซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุถึงปริมาณมลภาวะทางอากาศที่ลดลงในแต่ละพื้นที่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงบางพื้นที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การวิเคราะห์โดยศูนย์เพื่อการวิจัยพลังงานและอากาศสะอาด (Centre for Research on Energy and Clean Air: Crea) ให้ความสำคัญกับมลภาวะไนโตรเจนไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่มีข้อมูล โดยเปรียบเทียบผลกระทบจากการปิดเมืองปัจจุบันกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่จะศึกษาในช่วงเวลาตั้งแต่ช่วงกลางและปลายเดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมปีนี้
ไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นค่าแทนที่ยอดเยี่ยมสำหรับมลภาวะทางอากาศในระดับท้องถิ่นและสามารถวัดค่าโดยใช้ดาวเทียม มลภาวะดังกล่าวเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ของเสียจากรถยนต์ รถบรรทุก รถทัวร์ และโรงไฟฟ้า
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ชั้นบรรยากาศที่มีความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์สูงจะระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ทำให้โรคทางเดินหายใจย่ำแย่ลงโดยเฉพาะหอบหืด นอกจากนี้ ไนโตรเจนไดออกไซด์รวมถึงสารแขวนลอยไนโตรเจนอื่นๆ ยังมีปฏิกิริยากับสารเคมีต่างๆ ในอากาศโดยจับตัวเป็นโมเลกุลละเอียดเช่นที่เรารู้จักกันดีคือ PM2.5 ซึ่งสามารถทะลุทะลวงลึกเข้าไปในปอด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และโรคหลอดเลือดหัวใจ
การศึกษาของ Crea พบว่าระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ มะนิลา และกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมากเนื่องจากการกิจกรรมเกี่ยวกับการผลิตและคมนาคมที่ลดลง
ตัวอย่างเช่น ระหว่างวันที่ 18 มีนาคมถึง 5 พฤษภาคม พบว่าในประเทศมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่กรุงกัวลาลัมเปอร์ที่พบว่าระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่วนสิงคโปร์ Lauri Myllyvirta หัวหน้าโครงการวิจัยและ Isabella Suarez นักวิเคราะห์ระบุว่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงของ PM2.5 ระหว่างการศึกษาตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ถึง 5 พฤษภาคมเนื่องจากมลภาวะส่วนใหญ่เกิดจากโรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และแหล่งอื่นๆ ในบริเวณโดยรอบ ส่วนไนโตรเจนไดออกไซด์มีปริมาณลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นพื้นที่ทางตะวันตกของสิงคโปร์ที่ยังคงพบระดับไนโตรเจนไดออกไซด์สูงเช่นเดิม
องค์กรสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ระบุว่าระดับมลภาวะสำคัญได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีนโยบายปิดเมือง และมีการลดลงเพิ่มเติมหลังจากที่มีมาตรการเข้มข้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน โดยหยิบตัวเลขระดับไนโตรเจนไดออกไซด์เฉลี่ยราวสองสัปดาห์ก่อนที่จะมีนโยบายปิดเมืองซึ่งอยู่ที่ 17 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นับว่าลดลงอย่างมากหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แถลงการณ์ขององค์กรสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ระบุเพิ่มเติมว่า “การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าราวสองสัปดาห์นับตั้งแต่มีมาตรการป้องกันการระบาด สภาพมลภาวะทางอากาศในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 13 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” นอกจากนี้ ค่ามลภาวะต่างๆ เช่น PM10 PM2.5 คาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็ลดลงตั้งแต่ 8 ถึง 43 เปอร์เซ็นต์
Crea เสริมว่าการปล่อยแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ยังลดลงในกรุงจาการ์ตาและฮานอย แต่ระดับฝุ่น PM2.5 ยังคงสูงเช่นเดิมเพราะทั้งสองเมืองมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง นั่นหมายความว่ามลภาวะทางอากาศส่วนใหญ่มีที่มาจากแหล่งนอกเมือง เมืองโฮจิมินฮ์ก็เผชิญกับสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ขณะที่ประเทศกัมพูชาและลาวซึ่งบังคับใช้มาตรการไม่เข้มงวดนักก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงระดับมลภาวะในอากาศ
คณะวิจัยระบุว่าข้อค้นพบดังกล่าวเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการควบคุมคุณภาพอากาศรวมถึงการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด “ท้องฟ้าสีฟ้าเหนือเมืองใหญ่บอกเราว่านี่คือสิ่งที่เป็นไปได้หากเราลงทุนในพลังงานสะอาดหลังจากที่วิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว” Isabella Suarez ให้สัมภาษณ์ “ท่ามกลางวิกฤติ เราอาจได้สัมผัสว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่หายใจสะดวก แต่การเปลี่ยนภาวะปัจจุบันสู่ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องมีการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศและต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็วและเสริมด้วยพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” เธอกล่าวสรุป
ถอดความและเรียบเรียงจาก Air pollution clearing up in Southeast Asia
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์