เหตุผลที่การเพาะพันธุ์เสือไม่อาจช่วยอนุรักษ์เสือโคร่งในป่าธรรมชาติได้

เหตุผลที่การเพาะพันธุ์เสือไม่อาจช่วยอนุรักษ์เสือโคร่งในป่าธรรมชาติได้

ประชากรเสือโคร่งบนโลกใบนี้เหลืออยู่น้อยกว่า 4,000 ตัว มีการพบเห็นเสือโคร่งชวาครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2519 ส่วนเสือโคร่งบาหลีสูญพันธุ์ไปก่อนหน้านั้นหลายปี และทั้งสองสายพันธุ์ย่อยนี้ได้จากเราไปแล้วตลอดกาล

ในประเทศกัมพูชาเสือโคร่งได้สูญพันธุ์ลงเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่เวียดนามและลาวอยู่ในสถานะ “สูญพันธุ์โดยปริยาย” (functionally extinct) เพราะประชากรเหลือน้อยมาก ส่วนในประเทศจีนมีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์ในอีกไม่นาน

ที่ประเทศอินโดนีเซีย ประชากรเสือสุมาตราเหลือน้อยกว่า 400 ตัว และมีข่าวร้ายว่าจำนวนเสือโคร่งในป่าของประเทศพม่าและมาเลเซียกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สถิติแห่งความหายนะที่ว่ามานี้เป็นผลมาจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือ การลักลอบค้าชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเสือ ตามความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ เช่น ประเทศจีน และเวียดนาม

ขณะที่เสือในป่ากำลังค่อยๆ ลดลง เสือโคร่งที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงกลับมีมากถึง 7,000 ตัวในแหล่งเพาะเลี้ยงต่างๆ ตามรายงานของสำนักงานสืบสวนคดีสิ่งแวดล้อม (The Environmental Investigation Agency หรือ EIA)

แต่การที่มีเสือจำนวนมากถูกเพาะเลี้ยงขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนเสือในธรรมชาติให้มากขึ้นตาม เพราะการเพาะเลี้ยงที่ว่าล้วนมีขึ้นเพื่อการซื้อขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของเสือเท่านั้น

เมื่อปี 2530 การประชุมของภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้กำหนดสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่า ตกลงห้ามมิให้มีการค้าเสือ ชิ้นส่วนร่างกาย และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเสือระหว่างประเทศในเชิงพาณิชย์

ต่อมาในปี 2550 ทางภาคีเห็นพ้องต้องกันถึงการเพิ่มเติมรายละเอียดว่า ไม่ควรสนับสนุนให้เกิดการเพาะพันธุ์เสือเพื่อการค้า แต่ควรเพาะพันธุ์เพียงเพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เสือในป่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตามจากการติดตามข้อมูลของ EIA กลับพบว่ามีการเพาะพันธุ์เสือในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น และการค้าชิ้นส่วนของเสือเลี้ยงก็ยังคงดำเนินคู่ขนานมากับค้าชิ้นส่วนเสือโคร่งจากป่า

 

 

ต่อเรื่องนี้มีบางเสียงได้โต้แย้งว่า การเพาะเลี้ยงเสือสามารถสร้างพื้นฐานการค้าชิ้นส่วนต่างๆ ของเสือได้อย่างยั่งยืน เป็นไปตามความต้องการของตลาดและจะช่วยให้เสือในป่าไม่ถูกล่า

แม้ว่ามันอาจมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ที่การเลี้ยงเสือจะช่วยลดการล่าเสือในป่า แต่ทว่าในความเป็นจริง จากข้อมูลที่ปรากฎ ผลกระทบจากเรื่องนี้กลับให้ผลตรงกันข้าม

การวิจัยถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเผยให้เห็นถึงความพึงพอใจในชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ของเสือที่มาจากป่ามากกว่า ส่วนสัตว์ที่ถูกเพาะเลี้ยงถูกมองว่าไม่คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ และมีประสิทธิภาพในการนำมาทำยาน้อยกว่าการแปรรูปสัตว์ที่จับมาจากป่า

ความเชื่อดั้งเดิมของชาวเอเชียมองว่าการเยียวยารักษาที่ได้มาจากสัตว์ป่าที่ต้องต่อสู้เอาชีวิตรอดและหาอาหารเองตามธรรมชาตินั้นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อนำมาใช้ดูแลสุขภาพ

ขณะที่การมอบผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ป่าหรือสัตว์ที่หายากนั้นแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของสถานะผู้ให้ ซึ่งไม่สามารถนำสัตว์ที่เพาะเลี้ยงจากฟาร์มมาใช้ทดแทนได้

ดังนั้น สถานะของสัตว์ที่เพาะเลี้ยงจึงไม่สามารถเข้ามาแทนที่อุปสงค์ของสัตว์ป่าได้

ในทำนองเดียวกัน หากอนุญาตให้มีการค้าชิ้นส่วนเสือจากฟาร์มเพาะเลี้ยงอย่างถูกกฎหมาย ก็จะยิ่งสร้างแรงจูงใจและทำลายความพยายามในการลดความต้องการของผู้บริโภคลง ซึ่งในที่สุดความต้องการโดยรวมที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อสถานะเสือโคร่งในป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ไม่มาก

นอกจากนี้ การเพาะพันธุ์และเลี้ยงเสือเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง แต่การล่าเสือในธรรมชาตินั้นมีต้นทุนในการทำกับดักที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งในกรณีที่การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพก็อาจมีการซักฟอกของป่าปะปนอยู่ในสินค้าที่มาจากการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นได้

ถึงที่สุด การจะอนุรักษ์เสือโคร่งไว้ให้ได้จำเป็นต้องป้องกันการบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัย การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับชุมชนท้องถิ่น การเสริมความเข้มแข็งการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานผู้บังคับใช้และหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า

 


เรียบเรียงจาก Why captive breeding will not save the wild tiger โดย Rebecca Drury, Fauna & Flora International
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
ภาพเปิดเรื่อง Fauna & Flora International