เสือจากัวร์ เสือดาว และสิงโต กำลังตกเป็นเป้าหมายใหม่ขบวนการค้าสัตว์ป่า (แทนที่เสือโคร่ง)

เสือจากัวร์ เสือดาว และสิงโต กำลังตกเป็นเป้าหมายใหม่ขบวนการค้าสัตว์ป่า (แทนที่เสือโคร่ง)

ชิ้นส่วนร่างกายของสิงโต เสือจากัวร์ และเสือดาว กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่ามากขึ้น เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง แต่การค้างาช้างและนอแรดได้แสดงสัญญาณที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ออกมาเตือนว่า การค้าสัตว์ป่ายังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติระดับโลก รวมถึงสุขภาพของมนุษย์

ตามข้อมูลรายงานอาชญากรรมสัตว์ป่าโลก ระบุว่า มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นในเอเชียมีส่วนผลักดันให้เกิดความต้องการพืชและผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และพบกลุ่มผู้ค้าใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้นเพื่อขยายฐานการค้า

ในรายงานยังบอกด้วยว่า จำนวนตัวนิ่มในเอเชียที่กำลังลดลงส่งผลให้แอฟริกากลางและตะวันตกกลายเป็นศูนย์กลางการค้าตัวนิ่ม – สัตว์ป่าที่ถูกค้ามากที่สุดในโลก โดยเกล็ดตัวนิ่มถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณในจีนและเวียดนาม ระหว่างปี 2014 – 2018 มีสถิติการซื้อขายเพิ่มขึ้นสิบเท่า

ในรายงานพบสัญญาณ “การลดลงอย่างรวดเร็ว” ในตลาดงาช้างและนอแรด ซึ่งมีเหตุจากราคาที่ต้องจ่ายให้กับนักล่าสัตว์ในแอฟริกา และข้อจำกัดด้านการค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแอฟริกาและเอเชีย

UNODC อธิบายว่า สุขภิบาลและสุขอนามัยในตลาดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก โดยสามในสี่ของโรคระบาดใหม่มีที่มาจากสัตว์สู่คน เช่นเดียวกับการระบาดของโควิด-19

เองเจลา มี หัวหน้าฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์แนวโน้มของ UNODC กล่าวว่า ความต้องการสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่สูงในเอเชีย ไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่าปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนในระดับโลก

“คุณต้องจำไว้ว่าความต้องการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับทุกสิ่งนั้นอยู่ในเอเชียเพราะเอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรมากที่สุด” เธอกล่าว “สิ่งที่โดดเด่นในเอเชีย คือ ผู้คนจำนวนมากสามารถซื้อสิ่งที่พวกเขาไม่อาจซื้อได้ก่อนหน้านี้”

เองเจลา อธิบายว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์เริ่มต้นจากแหล่งที่มาผิดกฎหมาย แต่ในท้ายที่สุดมันจะถูกฟอกเป็นสินค้าปกติ เช่น การลักลอบค้าและนำเข้าสัตว์เลื้อยคลานในประเทศมาเลเซียได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นสินค้าแบรนด์เนม

ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างยูทูป ที่สอนวิธีการจับสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลก กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ช่องและกระตุ้นให้ผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ออกไปจับสัตว์ตามที่เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างรายได้เสริม

ตามรายงานระบุว่า สัตว์เลื้อยคลานถูกนำมาขายในตลาดนักสะสมสัตว์เลี้ยงมากขึ้นโดยใช้ช่องทางเฟสบุ๊ค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าในมุมของสัตว์เลี้ยงมากกว่านำชิ้นส่วนไปใช้ในเชิงแฟชั่น

ขณะที่การจับกุมผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเสือในประเทศจีนและเวียดนาม แนวโน้มของตลาดกำลังมุ่งไปที่ชิ้นส่วนของเสือชนิดอื่น ๆ มากขึ้น

ตามรายงานพบหลักฐานชิ้นส่วนของเสือดาว เสือลายเมฆ เสือดาวหิมะ และเสือจากัวร์ ในส่วนสิงโตแอฟริกันพบว่าอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์ในแอฟริกาใต้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั่วโลกมีเสือโคร่งในสถานเพาะเลี้ยงประมาณ 12,000 ตัว และหลายแห่งพบการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายการค้าสัตว์ป่า ในจำนวนนี้มี 6,057 ตัว อยู่ในประเทศจีน ส่วนเสือที่อาศัยในป่าธรรมชาติเหลืออยู่ในประเทศอินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในรายงาน ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องจัดการกับปัญหา โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตและติดสินบน

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง Wildlife traffickers target lion, jaguar and leopard body parts as tiger substitutes โดย Patrick Greenfield
ภาพเปิดเรื่อง Leon Neal/Getty Images