เราเหลือเวลาอีกเพียง 20 ปี สำหรับแก้ไขวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

เราเหลือเวลาอีกเพียง 20 ปี สำหรับแก้ไขวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

งานศึกษาชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เตือนให้มนุษยชาติทราบถึงอันตรายร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นจากวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6

โดยรายงานอธิบายว่า อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตกำลังดำเนินไปเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และหากเราไม่ลงมือแก้ไขปัญหาในทันที มนุษยชาติจะได้รับผลกระทบมากเกินกว่าจะจินตนาการได้

ในงานศึกษาชิ้นใหม่นี้ โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้บ่งชี้ถึงต้นเหตุปัจจัยวิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ อย่างการเติบโตของจำนวนประชากร การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การค้าสัตว์ป่า มลภาวะต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่กำลังคุกคามสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตหลายร้อยชนิดให้ยืนอยู่ขอบเหวของการสูญพันธุ์ในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยอธิบายว่า มันเป็นการทำลายระบบนิเวศบริการของธรรมชาติที่สำคัญ และมีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คน

งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยปรับปรุงมาจาก รายงานในปี ค.ศ. 2015 ที่ได้ประกาศให้มนุษยชาติได้ทราบว่า เรากำลังเข้าสู่ยุควิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ของโลก ทว่าในรายงานชิ้นใหม่นี้ได้สรุปอัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นว่า มันเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมถึง 100 เท่า หรือหมายความว่าการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นใน 1 ปี มีอัตราเทียบเท่าการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปีในอดีต และการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ผ่าน ๆ มา ล้วนเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ หรือผลกระทบจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่ทำให้ไดโนเสาร์ถึงกาลอวสาน แต่วิกฤตการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง

การศึกษานี้ได้อ้างอิงถึงรายงานของสหประชาชาติที่ได้นำเสนอไปเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมผลการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก อันได้อธิบายไว้ว่า ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์กำลังทำให้สิ่งมีชีวิตถึงหนึ่งล้านสายพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ซึ่งในการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ถึงสายพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรต่ำกว่า 1,000 ชีวิต ได้ผลที่น่ากังวลว่า สัตว์มีกระดูกสันหลังบนโลกจำนวน 515 สายพันธุ์กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ ประมาณครึ่งหนึ่งอาจมีจำนวนประชากรน้อยกว่า 250 ชีวิต และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ในอีก 20 ปี ข้างหน้า

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการศึกษายังพบว่า กว่า 237,000 สายพันธุ์ นอกเหนือจาก 515 สายพันธุ์กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธุ์ ณ ขณะนี้ ได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1900 และสัตว์ที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการสูญพันธุ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบุกรุกถิ่นฐานของมนุษย์

เจอราร์โด เคบาลอส นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติของเม็กซิโก และผู้เขียนรายงานชิ้นล่าสุด กล่าวเตือนว่า หากไม่มีความพยายามในการอนุรักษ์ที่มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้มากที่สัตว์ทั้ง 515 สายพันธุ์จะหายไปภายในทศวรรษหน้า

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติของเม็กซิโก เน้นย้ำว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของมนุษยชาติ สิ่งที่เราทำในระหว่าง 10-15 ปีข้างหน้า จะเป็นตัวกำหนดความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก และอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์

ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อาจดูห่างไกลจากตัวเรา และไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ประเด็นสำคัญ คือ มนุษย์ไม่อาจแยกตัวออกจากธรรมชาติ เราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับ อาหาร น้ำ อากาศ และระบบนิเวศอื่น ๆ หากเรายังคงทำลาย สิ่งเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาสร้างอันตรายให้แก่เรา

เจน กูดดอลล์ นักสัตววิทยาชาวอังกฤษ ให้ความเห็นต่อวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งนี้ว่า “เรากำลังใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกราวกับว่าเป็นของที่ไม่มีวันหมด และให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจก่อนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้พืชและสัตว์ค่อย ๆ สูญพันธุ์ สุขภาพของระบบนิเวศก็จะถูกทำลาย เพราะว่าทุกสายพันธุ์ล้วนมีบทบาทเชื่อมร้อยกันอย่างซับซ้อนเป็นห่วงโซ่ของชีวิต”

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงการเชื่อมร้อยของระบบนิเวศ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง คือ เรื่องการล่มสลายของระบบนิเวศสาหร่ายทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเมื่อปี 1990 เนื่องจากการทำประมงที่เกิดขนาด ทำให้เหล่าวาฬเพชรฆาตต้องอาศัยนากทะเลเป็นเหยื่อ ซึ่งนากทะเลนั้นถือเป็นตัวควบคุมประชากรเม่นทะเล เมื่อนากลดลงจำนวนเม่นทะเลก็เพิ่มมากขึ้น และได้เข้าไปกัดกินสาหร่ายทะเลทำให้สมดุลนิเวศได้รับความเสียหาย และยังส่งผลต่อบรรดาสัตว์น้ำน้อยใหญ่ที่ต้องอาศัยสาหร่ายทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย

นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงอีกกรณี อย่างการระบาดของ COVID-19 อันเป็นตัวอย่างปฏิสัมพันธ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบมาสู่สุขภาพของคนเรา

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การระบาดของ COVID-19 มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว และอาจถูกส่งต่อมาถึงมนุษย์ผ่านสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตลาดค้าสัตว์ป่า โดยการระบาดของไวรัสในยุคปัจจุบัน จำนวนไม่น้อยกว่า 30-50 สายพันธุ์ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น โรคซาร์ส เมอร์ส อีโบลา ล้วนมีที่มาปัญหาเดียวกัน คือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

เจอราร์โด เคบาลอส กล่าวว่า วัคซีนที่สามารถป้องกันโรคระบาดเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ การรักษาระบบนิเวศในธรรมชาติ และยุติการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยเขาได้กล่าวเตือนว่า หากโลกยังคงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปจะมีผลกระทบเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีก

“นี่ไม่ใช่ทางเลือก นี่คือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตและมนุษยชาติ”

  • อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง With more species at risk of extinction, study warns of “biological annihilation” โดย Jeff Berardelli
ภาพเปิดเรื่อง Sumatran rhino โดย Rhett Buttler/Mongabay