หมีขั้วโลกบุกเมือง – เมื่อโลกร้อนทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามีมากขึ้น

หมีขั้วโลกบุกเมือง – เมื่อโลกร้อนทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามีมากขึ้น

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า เช่นกรณีของหมีขั้วโลกบ่อยมากขึ้น

หมีขั้วโลก สัญลักษณ์ที่ใช้ในการรณรงค์เรื่องโลกร้อนสำหรับเด็กๆ พวกมันเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ ‘เหยื่อ’ จากอีกจำนวนหลายสายพันธุ์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อน และหากเรายังคงนิ่งเฉยต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น อาจทำให้สัตว์ป่าเกือบ 50% ของสายพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยในธรรมชาติต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก

เมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรกำลังละลายแผ่นน้ำแข็งพื้นที่หากินของหมีขั้วโลก เจ้าสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่จึงต้องออกค้นหาพื้นที่หาอาหารใหม่ นั่นจึงทำให้เราได้เห็นภาพ หมีขั้วโลก 52 ตัวบุกประเทศรัสเซียเพื่อหาอาหาร และกลายเป็นเหตุให้บรรดาชาวเมืองไม่กล้าออกนอกบ้าน เพราะกังวลในสวัสดิภาพตัวเองหลังจากที่เคยมีข่าวว่าหมีขาวขั้วโลกสามารถทำร้ายคนได้ถึงตาย

เป็นเรื่องที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ที่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในเชิงลบระหว่างคนกับสัตว์ป่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น

คลื่นความร้อนที่โถมใส่ประเทศออสเตรเลีย ทำให้บรรดาสัตว์ป่าพาย้ายมาหาที่หลบภัยในเมือง ฝูงจิงโจ้เข้ามาคุ้ยหาอาหารริมถนน ขณะที่อาสาสมัครชุมชนต้องช่วยกันฉีดน้ำคลายความร้อนให้ค้างคาวผลไม้ในวันที่อุณหภูมิสูงเกินไป ส่วนความแห้งแล้งในแอฟริกาตอนใต้ทำให้ฝูงช้างป่ากระหายน้ำบุกเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อกินพืชผลที่มนุษย์ปลูกไว้ รวมถึงการขโมยน้ำจากถังเก็บกัก ทั้งที่ในความเป็นจริงสัตว์ป่าไม่ได้ชอบที่จะอยู่ใกล้มนุษย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังชี้ให้เห็นว่า “พวกมันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว”

เมื่อรวมเข้ากับปัญหาผลผลิตจากการเพาะปลูกที่ลดลงเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงนำให้แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ายิ่งมีมากขึ้น ชาวแอฟริกันที่มีฐานะยากจนหลายคนจึงกล้าที่จะทำร้ายสัตว์ป่าโดยไม่กลัวว่าจะมีความผิด

มีนักสังเกตการณ์เกี่ยวกับผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง เพราะภัยแล้งได้บังคับให้ผู้คนจากชนบทต้องย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองที่แออัด และมันได้ยั่วเย้าให้เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากเรายังไม่สามารถเอาชนะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในเผ่าพันธุ์ตัวเองได้ ก็คงจะมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก โดยเฉพาะในเวลาที่ทรัพยากรกำลังขาดแคลน

แต่ก็ยังพอมีแนวทางแก้ปัญหาแบบง่ายๆ อยู่บ้าง เพื่อลดปริมาณความเสียหายให้เกิดน้อยลง เช่น หมีขั้วโลกจะหนีออกจากชุมชนเพราะความกลัวต่อเสียงพลุ หรือการสร้างถังเก็บน้ำไว้ให้ช้างได้ใช้ในช่วงแล้ง

ในทางเทคนิคแล้ววิธีการเหล่านี้สามารถช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าได้ทันทีในระยะสั้น และพอจะบรรเทาความเสียหายลงได้บ้าง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการยุติปัญหาโดยชั่วคราว การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงจึงควรมุ่งเน้นไปที่สาเหตุ อย่างการลดปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนฯ ลงให้ได้

นี่ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่รอดของสัตว์ป่า แต่หมายถึงเพื่อการอยู่รอดของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าก็ต้องได้รับการปกป้อง เพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ต่างๆ จะมีพื้นที่และอาหารเพียงพอจนไม่ออกมารบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์อีก ในส่วนของพวกเราเองก็ต้องรู้จักจัดการกับความต้องการที่ไม่รู้จักพอ ไม่บริโภคเกินพอดีและลดการเกิดของเสียที่มีมากเกิน

การพูดนั้นง่ายกว่าการทำ แต่หากปราศจากเจตจำนงทางการเมืองหรือเงินทุนที่เพียงพอสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่มีทางสำเร็จ ผู้นำในระดับโลกต้องเข้าสู่ภารกิจนี้อย่างจริงจัง และมันก็ขึ้นอยู่กับสาธารณชนที่จะกดดันให้พวกเขาลงมือทำ เช่น การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่ม Extinction Rebellion หรือกลุ่มนักเรียนที่จัดการประท้วงเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและต้องทำต่อให้มากขึ้น

เราต้องทำเพื่อให้เห็นว่าชีวิตของพวกเราต่างขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ เพราะเราไม่มีโลกใบที่สองที่เราจะย้ายไปอยู่ได้หากโลกนี้ถูกทำลาย

 


เรียบเรียงจาก Polar bear ‘invasion’: How climate change is making human-wildlife conflicts worse เขียนโดย Niki Rust, Newcastle University
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์