จำนวนประชากรสัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปลาบึกไปจนถึงกระเบนมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 97 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2512
ประชากรของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพบเห็นได้จำนวนมากในแม่น้ำและทะเลสาบลดลงอย่างมาในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากรายงานสรุปสถานการณ์ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรก สัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่บางชนิดพันธุ์ได้ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น โลมาแยงซี รวมถึงอีกหลายชนิดพันธุ์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์ ตั้งแต่ปลาบึก กระเบนน้ำจืด ไปจนถึงจระเข้แม่น้ำคงคาของอินเดีย และปลาสเตอร์เจียนแห่งภูมิภาคยุโรป ปัจจุบัน เราพบตะพาบหัวกบ (Chinese Softshell Turtle) 3 ตัวเท่านั้นที่ยังอยู่รอด และทั้งหมดเป็นตัวผู้ จำนวนประชากรสัตว์น้ำขนาดใหญ่ในภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียลดลงถึงร้อยละ 97 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2512
การล่าเพื่อเนื้อ หนัง และไข่ คือสาเหตุหลักของการลดลงของจำนวนประชากร รวมถึงความต้องการใช้น้ำจืดของมนุษย์เพื่อใช้ในการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างเขื่อนจำนวนมาก อีกทั้งการปนเปื้อนของมลภาวะ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ประเมินสัตว์น้ำขนาดใหญ่ 126 ชนิดพันธุ์ใน 72 ประเทศ โดยพบว่าจำนวนลดลงราวร้อยละ 88 โดยเฉลี่ย
สัตว์น้ำขนาดใหญ่เหล่านี้หลายชนิดเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าและส่งผลต่อระบบนิเวศที่อยู่อาศัยอย่างมาก (Keystone Species) เช่น บีเวอร์ โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการสูญเสียสัตว์เหล่านั้นจะสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังสัตว์และพืช รวมถึงประชากรอีกหลายล้านคนซึ่งต้องพึ่งพาแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีพ
“ผลการศึกษาเปรียบเสมือนสัญญาเตือนเกี่ยวกับหายนะของชนิดพันธุ์เหล่านี้” Zeb Hogan จากมหาวิทยาลัย Nevada สหรัฐอมเริกา หนึ่งในทีมวิจัยให้สัมภาษณ์ “สัตว์หลายชนิดอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และแทบทุกชนิดต้องการความช่วยเหลือจากเรา มันเป็นการแข่งขันกับเวลาเพื่อทำความเข้าใจและอนุรักษ์ก่อนที่จะสายเกินไป”
แม่น้ำแม่โขงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือบ้านของสัตว์แม่น้ำขนาดใหญ่หลายชนิดพันธุ์ โดยมีจำนวนมากที่สุดกว่าแม่น้ำแห่งใดในโลก Hogan ทำงานที่นั่นต่อเนื่องกันเป็นเวลาสองทศวรรษ เขาระบุว่าจำนวนประชากรสัตว์เหล่านี้ลดลงจนแทบไม่เหลือเมื่อจำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นและนำไปสู่แรงกดดันของสัตว์น้ำเหล่านั้น
แม่โขงยังเป็นบ้านของปลาดุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือที่เราคุ้นเคยกันว่าปลาบึก ซึ่งอาจมีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม รวมถึงชนิดพันธุ์ปลาคาร์ปและกระเบนน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย ชนิดพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หนึ่งขั้นก่อนจะถึงการสูญพันธุ์
การสูญเสียสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ซึ่งนิยามโดยมีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม เกิดขึ้นรอบโลก “ปลาที่เคยพบได้ทั่วไปในภูมิภาคยุโรปอย่างสเตอร์เจียนได้หายไปแทบหมดจากแม่น้ำสายหลักของยุโรป ยกเว้นแม่น้ำ Garonne ในฝรั่งเศส” ระบุในรายงานซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมว่าการกระจายพันธุ์ลดลงถึงร้อยละ 99
บีเวอร์ยูเรเซีย ซึ่งเป็นวิศวกรสำคัญในการสร้างที่อยู่อาศัย มีพื้นที่กระจายพันธุ์ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการฟื้นคืนประชากรตามธรรมชาติในสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเช็ค เอสโตเนีย ฟินแลนด์ รวมถึงอีกหลายประเทศ
ยังมีอันตรายหลายประการที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อสัตว์น้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำอย่างแอมะซอน คองโก และแม่โขง นั่นคือการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่นับว่าน่ากังวลอย่างยิ่ง สัตว์น้ำขนาดใหญ่เหล่านี้จำเป็นต้องใช้พื้นที่หากินค่อนข้างมาก และเขื่อนได้กีดกันเส้นทางเหล่านั้น อีกทั้งปิดเส้นทางอพยพเพื่อไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ ปัจจุบัน แม่น้ำขนาดใหญ่ 2 ใน 3 ไม่ได้ไหลอย่างอิสระอีกต่อไป
สัตว์น้ำจืดมีประชากรลดลงรวดเร็วกว่าสัตว์บกอย่างมาก การสูญเสียสัตว์น้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำและทะเลสาบยังส่งผลอันตรายต่อสัตว์น้ำขนาดเล็กและพืชพรรณ การทำให้ห่วงโซ่อาหารที่ละเอียดอ่อนหยุดชะงักลงย่อมส่งผลเสีย เช่นเดียวกับการสูญเสียบ่อตามธรรมชาติซึ่งดูแลโดยบีเวอร์และจระเข้แม่น้ำ
“การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่โลกกำลังเผชิญอยู่ มันจะนำไปสู่การสูญเสียนิเวศบริการ (เช่นอาหารและน้ำสะอาด) และคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์” คณะวิจัยกล่าวเตือน
อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นนี้ยังอ้างถึงความสำเร็จบางประการจากการอนุรักษ์อย่างแข็งขัน เช่น จำนวนประชากรของปลาสเตอร์เจียนสองชนิดพันุ์ในสหรัฐอเมริกา บีเวอร์อเมริกัน และโลมาอิรวดีในเอเชีย อย่างไรก็ดี โลมาอิรวดีก็ยังคงอยู่ในสถานะที่เปราะบาง
ถอดความและเรียบเรียงจาก Giant river animals on verge of extinction, report warns
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์