สถานะอันวิกฤตของเสือโคร่งมลายู

สถานะอันวิกฤตของเสือโคร่งมลายู

กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย – Mark Rayan Darmaraj ใช้เวลาเกือบ 15 ปี เพื่อศึกษาเรื่องราวของเสือโคร่งในประเทศมาเลเซีย

จนในที่สุดเขาก็ได้เห็นเสือโคร่งมลายู หนึ่งในห้าสายพันธุ์ย่อยของเสือโคร่งที่ยังเหลืออยู่บนโลกนี้กับตา นั่นคือเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่เขาได้ไปเห็นเสือตัวหนึ่งที่อุ้งตีนของมันกำลังติดอยู่ในกับดักที่พรานวางเอาไว้

Darmaraj ไม่มีวันลืมเสียงคำรามจากความเจ็บปวดและความกลัวที่ฉายอยู่ในแววตาที่นิ่งงัน

“การได้เห็นและเป็นพยานในความทุกข์ทรมานของเสือทำให้ผมตกใจและรู้สึกไม่สบอารมณ์เอาเสียเลย” Darmaraj ผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งของ WWF ในประเทศมาเลเซียกล่าวกับ Al Jazeera “ผมรู้สึกมึนงงอยู่พักใหญ่ก่อนจะเริ่มคิดได้ว่านี่หละคือสาเหตุที่ทำให้เสือโคร่งลดลง”

เสือโคร่งมลายูกำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดจากการที่แหล่งที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม จากการที่ป่าฝนเขตร้อนกำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งทำให้พวกมันมีความเสี่ยงต่อการถูกล่ามากยิ่งขึ้น

กลุ่มอนุรักษ์คาดการณ์ว่าอาจมีเสือโคร่งอาศัยอยู่น้อยกว่า 250 ตัวในประเทศมาเลเซีย แต่นักอนุรักษ์บางคนคิดว่ามันอาจมีน้อยกว่าเดิมลงไปอีกครึ่งหนึ่งจากจำนวนที่ประมาณเอาไว้เมื่อสิบปีก่อน ในตอนที่รัฐบาลได้เริ่มแผนปฏิบัติการฟื้นฟูประชากรเสือแห่งชาติเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าให้สำเร็จภายในปี 2563

เสือโคร่งคือ “สัตว์ที่มีความสำคัญ” Darmaraj  กล่าว

“เสือโคร่งคือสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของเรา พวกมันควรจะเป็นตัวแทนของความกล้าหาญ หากเราไม่อาจปกป้องพวกมันไว้ได้ แสดงว่าพวกเราไม่มีความกล้าหาญพอที่จะปกป้องเผ่าพันธุ์ของเรา เราเป็นหนี้ชีวิตของเสือโคร่ง เพื่อบอกว่าเราสามารถช่วยรักษาเผ่าพันธุ์นี้ไว้ในป่าธรรมชาติได้”

 

การลาดตระเวนในป่า

เสือหลายพันตัวเคยเดินทางไปทั่วผืนป่าบนคาบสมุทรมาเลเซีย แต่ตอนนี้พวกมันถูกกักขังไว้ให้อยู่ภายในพื้นที่คุ้มครองเพียงสามแห่ง คือ Belum-Temengor ทางเหนือ Taman Negara ตรงกลางและ Endau-Rompin ทางทิศใต้

การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสถาบันวิจัยป่าไม้ของมาเลเซีย เผยรายงานแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ป่าธรรมชาติของประเทศมาเลเซีย ลดลงประมาณ 200,000 เฮกตาร์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2558 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เกือบสามเท่าของสิงคโปร์ ประเทศทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรมลายู

การเชื่อมผืนป่า หมายถึงการมีพื้นที่ให้เสือโคร่งได้เดินทางไปมาระหว่างป่าใหญ่ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนปฏิบัติการ ได้ถูกทำลายลงจากการขยายพื้นที่ตัดไม้เพื่อสร้างถนนเข้าไปสู่พื้นที่ห่างไกล และเป็นสาเหตุให้การลักลอบล่าสัตว์เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม เพราะการเข้าถึงพื้นที่ไกลในป่าลึกไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ตอนนี้สัตว์ป่ากำลังนั่งอยู่บนขอบเหวแห่งการสูญพันธุ์ เป็นความเห็นของ Kae Kawanishi หัวหน้า Malaysian Conservation Alliance for Tigers ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสัตว์ป่า

“ในประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ของประเทศมาเลเซียไม่มีวิกฤตใดจะน่าเศร้าไปกว่าการสูญพันธุ์ของเสือโคร่ง” นักชีววิทยาได้เขียนจดหมายถึงสื่อท้องถิ่น เธอประเมินว่าตอนนี้มีเสือโคร่งเหลือเพียงแค่ 150 ตัว

ปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียมีคนที่ออกลาดตระเวนอยู่ในป่าไม่ถึง 100 ซึ่งนับรวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ลูกจ้างของรัฐในพื้นที่อนุรักษ์ และหน่วยลาดตระเวนที่จัดตั้งขึ้นโดย WWF ที่ไม่มีทั้งอาวุธและอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิด

ด้วยจำนวนผู้พิทักษ์ป่าที่มีน้อย มาเลเซียต้องพยายามอย่างหนักเพื่อจัดการกับปัญหาการล่าสัตว์ป่า

Elizabeth John จากเครือข่ายเฝ้าติดตามการค้าสัตว์ป่า Traffic เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ปัญหาการล่าสัตว์คือวิกฤตอย่างไม่มีข้อสงสัย”

กับดักมักไม่เลือกเหยื่อ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มีแต่เสือ แต่ยังรวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ ที่เป็นอาหารของเสือ

“พวกเสือมันคงไม่อยากได้ปัญหาอะไรเพิ่มอีก แต่ตอนนี้เรากำลังพบว่าแหล่งอาหารหลักของพวกมันกำลังหายไป พวกเราก็ยิ่งต้องการกำลังสำหรับการอนุรักษ์เพิ่มขึ้นด้วย”

Xavier Jayakumar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ ของมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่กำลังเจรจาเพื่อส่งทหารเข้าไปช่วยงานอนุรักษ์ ในการค้นหากำดัก และจับพวกลักลอบล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ประเทศเนปาลใช้ในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งได้เป็นสองเท่า และประเทศอินเดียที่มีเสือโคร่งมากที่สุดในโลก

ทหารคนแรกจะสามารถออกไปลาดตระเวนเพื่อปกป้องสัตว์ป่าได้ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2562 Jayakumar กล่าวกับ Al Jazeera

“การเจรจากำลังดำเนินไปอย่างลุล่วงและแสดงให้เห็นว่าเราสามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้” Jayakumar กล่าว “เรากำลังพูดถึงที่ดินหลายแสนแฮกตาร์และภูมิประเทศที่ไม่เป็นมิตร ยิ่งทหารมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี แต่มันจะต้องแบ่งไปยัง 3 พื้นที่ ถ้าสามารถให้ได้พื้นที่ละ 500 มันก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก”

 

การแสวงหาหนทางเพื่อการอนุรักษ์

รัฐบาลท้องถิ่นในบางรัฐของมาเลเซียก็เริ่มตื่นตัวที่จะปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าในรัฐของตัวเอง

ซึ่งหลังจากการผลักดันของ Rainforest Trust and Rimba องค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นของรัฐ Terengganu เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ได้ประกาศให้ป่าฝนเขตร้อนขนาด 10,385 เฮกตาร์ในเขตชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Taman Negara เป็นอุทยานแห่งชาติหลักของประเทศ

อุทยานแห่งชาติ Kenyir (เคยเป็นที่รู้จักในนาม Lawit-Cenana State Park) เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งมลายูเช่นเดียวกับใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ อย่างสมเสร็จหรือช้างเอเชีย

ส่วนในรัฐ Perak รัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า จะปกป้องกลุ่มป่าดงดิบ Belum เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมผืนป่าที่สำคัญและให้แน่ใจว่าเสือโคร่งจะสามารถอาศัยอยู่ได้ โดยได้วางแผนไว้ว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 3 คน ในพื้นที่ป่าทุก 10,000 เฮกตาร์ และสร้างทีมรับมือฉุกเฉินที่มีอุปกรณ์ครบครันเพื่อลดปัญหาการบุกรุกล่าสัตว์ใน Belum เป็นศูนย์ภายในปี 2563

ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พบกับดักจำนวน 553 จุดใน Belum ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประมาณการเอาไว้ว่าเสือโคร่งกำลังลดลงไปครึ่งหนึ่ง และคิดว่าคงมีอีกมากที่ยังหาไม่เจอ

ขบวนการลักลอบล่าสัตว์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ ทั้งจากประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายนี้จะมีประเทศจีนและอีกหลายประเทศที่ยังเชื่อว่าการบริโภคสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ตัวนี้จะช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นปลายทางการส่งออก

ขบวนการล่าสัตว์จะทำงานเป็นกลุ่มไม่เกิน 10 คน สร้างซุ้มชั่วคราวจากไม้ไผ่และผ้าใบกันน้ำ บางครั้งพวกเขาก็อาศัยอยู่ในป่าเป็นเวลาถึง 4 เดือน

กับดักนั้นมีราคาที่ถูกมาก เพียงประมาณ 5 ดอลลาร์ และสามารถสร้างได้โดยง่าย ยิ่งสำหรับเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอาณาเขตของตัวเองอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่บรรดาพรานจะหาจุดที่ดีที่สุดเพื่อวางกับดักให้สัมฤทธิ์ผล

 

บทลงโทษสำหรับการยับยั้ง

เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจะใช้หน่วยจู่โจมเข้ามาทำงานมากขึ้น ทางเอ็นจีโอก็ทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนและอัยการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลักลอบล่าสัตว์จะไม่สามารถหลบหนีจากอาชกรรมที่เขาก่อได้

“หากไม่มีระบบการฟ้องร้องคดีที่มีประสิทธิภาพ ผู้กระทำความผิดก็จะไม่ได้รับโทษที่เพียงพอจากการก่ออาชญากรรมต่อสัตว์ป่า” Lam Wai Yee จาก Rimba กล่าว นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Justice for Silent Victims ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการดำเนินคดี

ความคิดดังกล่าวริเริ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ให้สามารถรวบรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุได้อย่างครบถ้วนและทำการสอบสวนผู้ต้องสงสัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้นยกระดับเป้าหมายไปในประเด็นการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงผลที่จะตามมา

Lam บอกว่า ผู้พิพากษาสองคนที่มีส่วนร่วมในโครงการได้บอกกับเขาว่า พวกเขาได้กำหนดรายละเอียดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากปัญหาที่เกิด

รัฐบาลก่อนได้ปรับโทษของอาชญากรรมสัตวป่าให้สูงขึ้นมากสุดถึง 100,000 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 780,000 บาท) และหรือจำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่ Jayakumar กล่าวว่ากฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายจะนำเข้ารัฐสภาในเดือนมีนาคม

บทลงโทษได้รับการออกแบบเพื่อให้มั่นใจว่า จะมีผลยับยั้งได้จริง และมันเป็นการประกาศว่ามาเลเซียจะเอาจริงกับอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

Darmaraj มองว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่สายเกินไปสำหรับเสือโคร่งตัวที่เขาพบมันติดกับดักเมื่อปี พ.ศ. 2552

สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยชีวิตเสือโคร่งตัวนั้น แต่สุดท้ายมันก็ต้องตายลงในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา

นักอนุรักษ์หวังว่าการกระทำที่เด็ดขาดในตอนนี้จะทำให้เสือโคร่งไม่ต้องประสบชะตากรรมที่น่ากลัวอย่างเช่นในอดีต

“เสือโคร่งไม่ได้เป็นแค่สัตว์ที่มีเสน่ห์อีกสายพันธุ์หนึ่ง” Darmaraj กล่าว “ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ผมเคยอ่านหนังสือที่อธิบายว่าเสือโคร่งเป็นราชาของป่าในประเทศนี้ สำหรับผมแล้ว จนถึงตอนนี้เสือโคร่งก็ยังคงหมายถึงผู้พิทัษ์ป่าและสภาพแวดล้อมทั้งหมดในนั้น”

 


เรียบเรียงจาก Malayan tiger in crisis as poaching threatens to wipe out big cat เขียนโดย Kate Mayberry
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
ภาพเปิดเรื่อง www.iucnredlist.org