ว่าด้วย ‘สิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ว่าด้วย ‘สิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติส่งผลกระทบต่อเด็ก คนจน และกลุ่มเปราะบาง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ น้ำดื่มที่ไม่สะอาด ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ปัญหาเหล่านี้เป็นเหรียญอีกด้านของ ‘ปาฏิหาริย์’ การพัฒนาทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ในภูมิภาคดังกล่าวยังถือเป็นพื้นที่ ‘อันตราย’ สำหรับนักเรียกร้องด้านสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดี

แต่เรากำลังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ โดยกลุ่มผู้เปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบผ่านกระบวนการยุติธรรม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่เริ่มตีความกฎหมายแบบ ‘ก้าวหน้า’ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

มีตัวอย่างจำนวนมากในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ประชาชนประสบความสำเร็จ ในการต่อต้านโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้กฎหมายที่มีองค์ประกอบของ ‘สิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ 

ตัวอย่างแรกคือประเทศไทย ที่ชุมชนได้ฟ้องร้องโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนกว่า 30,000 ชีวิตต้องย้ายถิ่นฐาน และสร้างปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากการปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ สารปรอท และสารเคมีเป็นพิษอื่น ๆ หลังจากการต่อสู้ในชั้นศาลกว่า 12 ปี ศาลปกครองไทยก็ได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชดเชยค่าเสียหายทางสุขภาพต่อโจทก์ 131 คน

ส่วนในประเทศเวียดนามภายใต้กฎหมายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ที่บังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2561 ประชาชนได้เรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยรายละเอียดการอนุญาตให้มีการทิ้งดิน และโคลนกว่าหนึ่งล้านลูกบาศก์เมตรใกล้กับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ Hon Cau ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปราะบางทางธรรมชาติ จนทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกการอนุญาตดังกล่าว และเปลี่ยนแผนการใช้ดินและโคลนเหล่านั้นในการถมที่ดินแทน ชัยชนะนี้ช่วยอนุรักษ์ทั้งธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่นซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรจากเขตอนุรักษ์ดังกล่าว

บทบาทของอาเซียน

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาค ก็ได้เดินหน้าผลักดันประเด็นสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดีในหมู่ประเทศสมาชิก โดยในปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลในภูมิภาคได้ร่วมลงนามในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการระบุถึงสิทธิในการเข้าถึง ‘สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด และยั่งยืน’

ส่วนในปี พ.ศ. 2558 ภูมิภาคก็ได้รับรองพิมพ์เขียวประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Community Blueprints 2025) ซึ่งเป็นกรอบนโยบายที่เอื้อต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งอากาศสะอาด น้ำ สุขอนามัย ภูมิภาคอากาศ การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อมปลอดมลภาวะ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์

แต่อาเซียนมีบทบาทได้มากกว่านี้ เพราะเหล่านักเรียกร้องด้านสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดีในภูมิภาคอาเซียน เสี่ยงต่อการถูกคุกคามหรือกระทั่งจำคุก อาเซียนต้องไปให้ไกลกว่าการออกประกาศที่ฟังแล้วดูดี สู่การเคารพและปกป้องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐบาล การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการชดเชยความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนคำสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมสู่ภาคปฏิบัตินั้นไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในระดับสากล

ประเทศในกลุ่มอาเซียนทำอะไรได้บ้าง?

ประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงด้านสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดีหลากหลายวิธี อาทิ การลงนามในอนุสัญญาอาร์ฮูส (Aarhus Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสาธารณะ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 อนุสัญญาดังกล่าวจะเชื่อมโยงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมกับสิทธิมนุษยชน อีกทั้งวางกรอบแนวคิดในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบภายในประเทศ แรกเริ่มเดิมทีอนุสัญญาดังกล่าวนั้นจำกัดเฉพาะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบันทุกประเทศสามารถร่วมลงนามได้อย่างเสรี โดยมีหลายประเทศในเอเชียกลางร่วมลงนาม

กลุ่มประเทศอาเซียนอาจพัฒนาอนุสัญญาในภูมิภาคขึ้นมาเอง เพื่อจัดการกับปัญหาข้ามพรมแดน หรือสนับสนุนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาที่อาจกระทบต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ละประเทศยังสามารถเริ่มต้นกระบวนการ ที่จะรวมเอากระบวนการ ซึ่งอิงตามหลักสิทธิมนุษยชนเข้ามาบังคับใช้เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และแถบแคริบเบียน ที่มีข้อตกลงด้านสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดีประจำภูมิภาคชื่อว่า Escazú Agreement ซึ่งมีรายละเอียดคล้ายคลึงกับอนุสัญญาอาร์ฮูส

ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ นับเป็นสายใยแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงธรรมชาติเข้ากับมนุษย์ ทั้งอาหารที่เรารับประทาน น้ำที่เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจ อาเซียนสามารถแสดงจุดยืนของตนเองในการประชุมสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศจีนในปีนี้ โดยผนวกรวมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับกรอบนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่สหประชาชาติพยายามสนับสนุนให้ทุกประเทศรับรู้ถึงสิทธิการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คงทำให้เรารับทราบดีว่าสภาพแวดล้อมที่ดีนั้นสำคัญต่อการดำรงชีวิตเพียงใด หากเราต้องการอยู่บนโลกที่สมดุลและเป็นธรรม แต่ละประเทศจะต้องเดินหน้าพัฒนาร่วมกับธรรมชาติ มิใช่พยายามเอาชนะ สิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์คือสองด้านบนเหรียญเดียวกัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความเป็นไปได้ที่จะขจัดความยากจนและรักษาโลกของเราให้ชนรุ่นหลังได้ในกระบวนการเดียวกัน


ถอดความและเรียบเรียงจาก Spotlight on the right to a healthy environment in Southeast Asia
ภาพประกอบ กรุงเทพธุรกิจ

 

 

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก