ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเพาะเลี้ยงแมงป่องเพื่อสกัดพิษขาย ได้เกิดเป็นกระแสนิยมขึ้นในหลายประเทศ
ด้วยความที่พิษแมงป่องบางชนิด ถูกปั่นให้มีมูลค่าราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง จึงทำให้เกิดนักแสวงโชคมือใหม่ผุดตามมามากมาย
พร้อมๆ กับการเปิดฟาร์มเพาะเลี้ยง โรงเรียนสอนรีดพิษ ไปจนถึงร้านขายแมงป่องให้กับคนที่หวังรวยด้วยวิธีนี้ได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
หากมองอย่างผิวเผินมันเป็นทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้ามองปรากฎการณ์ดังกล่าว พวกเขาเห็นว่านี่คือวิกฤตไม่ใช่โอกาส
เพราะความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เสี่ยงทำให้สัตว์ชนิดนั้นเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น
ผลในทางตรงที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือการลดลงของแมงป่องในธรรมชาติ และการทำลายระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของสัตว์ – ที่เป็นผลกระทบทางอ้อมจากการออกไปล่าสัตว์
และถึงจะมีฟาร์มเพาะเลี้ยง แต่นั่นก็การันตีไม่ได้ว่าแมงป่องในธรรมชาติจะปลอดภัย
ตามปกติแมงป่องเป็นสัตว์ที่แพร่กระจายพันธุ์ได้ช้า บางชนิดตั้งท้องนานถึง 7 เดือน บางชนิดอาจใช้ระยะเวลานานเป็นปี
ดังนั้น โอกาสที่แมงป่องจะมีไม่พอต่อความต้องการที่ผันผวนขึ้นจากกระแสความสนใจอย่างรวดเร็ว ย่อมมีขึ้นอย่างแน่นอน
แล้วเราจะไปหาแมงป่องจากที่ไหนมาแทน ถ้าไม่ใช่จากธรรมชาติ ที่ได้มาแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียเวลาเพาะเลี้ยงลงทุนดูแล
กรณีศึกษาที่น่าสนใจของปรากฎการณ์นี้ มีขึ้นในประเทศอิหร่าน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การออกล่าแมงป่องในธรรมชาติตามมา
แรงจูงใจเกิดขึ้นจากการปล่อยข่าว (ลือ) เพื่อหวังจับแมงป่องมาขายทำกำไร ในโซเชียลมีเดียว่า พิษแมงป่องมีราคาสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์ต่อลิตร
ไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบในทางธรรมชาติมากเพียงใด หรือมีผู้สนใจสูงแค่ไหน
แต่ที่แน่ๆ ปริมาณนั้นเกิดขึ้นมากในระดับที่หน่วยงานทางสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ต้องออกกฎหมายฉบับเร่งด่วนมาเพื่อปรามเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ทั้งห้ามไม่ให้เปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงขึ้นใหม่ และจะไม่ออกใบอนุญาตโรงเรียนสอนการรีดพิษอีกต่อไป หากใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย
ส่วนฟาร์มที่เปิดก่อนมีกฎหมาย จะต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบวัดผลด้านต่างๆ เป็นประจำ และห้ามละเมิดระเบียบที่วางไว้ โดยเฉพาะในเรื่องที่มาของแมงป่อง
นักวิจัยด้านพิษแมงป่องคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ในสถาบันวิจัยที่ก่อตั้งมาถูกต้องตามกฎหมายให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ช่วงที่เรื่องนี้เป็นกระแส มีผู้คนติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามวิธีการรีดพิษเป็นประจำทุกวัน
จากการสนทนาทำให้ทราบว่า คนที่สนใจ – พวกมือใหม่ – แทบจะทั้งหมดไม่มีความรู้เกี่ยวกับแมงป่องเลยแม้แต่น้อย
ไม่รู้ในระดับที่ไม่สามารถแยกแยะชนิดของแมงป่องได้ – ซึ่งนั่นได้นำไปสู่ผลลัพธ์อันตรายตามมา
ในแง่ผู้รับซื้อแมงป่อง (ที่อาจถูกหลอกขาย) เมื่อรีดพิษออกมาก็อาจได้ไม่ตรงตามที่ต้องการ เป็นการลงทุนอย่างเปล่าประโยชน์ บนความเสี่ยงที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต
แต่ในทางนิเวศวิทยา อาจทำให้แมงป่องในธรรมชาติหลายสายพันธุ์ที่ไม่ถูกเพาะเลี้ยงเผชิญพบกับการสูญพันธุ์ไปจากท้องถิ่นนั้นๆ
หรือในมุมที่กว้างไกลออกไปในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ พวกเขาเห็นวิกฤตการสูญพันธุ์ของแมงป่องสายพันธุ์ใหม่ๆ หรือสายพันธุ์ที่ยังไม่ถูกค้นพบมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
หากมองกันในแง่ผลประโยชน์ การสูญเสียแมงป่องสายพันธุ์ที่เรายังไม่รู้จัก อาจทำให้เราพลาดสรรพคุณทางยาที่อาจมีคุณอนันต์ไปอย่างเปล่าประโยชน์
ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ เกิดจากความไม่รู้ และความโลภ ของนักฉวยโอกาสแท้ๆ
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์รู้จักสายพันธุ์แมงป่องในธรรมชาติประมาณ 2,500 ชนิด
แม้มันจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์มีพิษ แต่ก็พบเพียงส่วนน้อยหรือประมาณ 50 ชนิดเท่านั้น ที่สามารถใช้พิษฆ่าคนให้ตายได้
ส่วนใหญ่พิษจะไม่รุนแรงมากนัก (หากไม่แพ้ทางกันโดยเฉพาะ)
แต่ในทางตรงกันข้ามพิษของแมงป่องกลับสร้างคุณประโยชน์ในฐานะยารักษาโรคให้แก่มนุษย์ได้อย่างมหัศจรรย์
สำหรับเหตุที่ทำให้พิษของแมงป่องมีราคาสูง เป็นเพราะแมงป่องหนึ่งตัวสามารถรีดพิษได้เพียงครั้งละ 1-2 มิลลิกรัม
การจะได้มาซึ่งพิษของแมงป่องจึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลา และความอดทนสูง รวมทั้งความเสี่ยงจากการถูกต่อย
แมงป่องเดธสตอลเกอร์ ถูกยกให้เป็นแมงป่องที่มีพิษรุนแรงที่สุด และมีมูลค่าของพิษแพงที่สุด
โดยมีราคาขายอยู่ที่แกลลอนละ 39 ล้านเหรียญสหรัฐ
อ้างอิง
-
Venom-extraction and exotic pet trade may hasten the extinction of scorpions
-
‘Breeding scorpion for venom extraction endangering species’
-
Iran bans scorpion captive breeding, export
-
Why scorpion venom is the most expensive liquid in the world
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน