ยุคทองของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กับความเสี่ยงต่อเสือโคร่ง

ยุคทองของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กับความเสี่ยงต่อเสือโคร่ง

การเติบโตของเมือง และโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกำลังคุกคามประชากรเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อ้างอิงจากรายงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมาโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF)

หากไม่มีมาตรการที่ยั่งยืนในการรับมือโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งถูกตัดขาดออกจากกัน ประชากรเสือโคร่งในเอเชียก็มีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์

รายงานดังกล่าวระบุข้อความถึงหลายรัฐบาลในทวีปเอเชียว่า จะต้องพัฒนาโครงการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ที่จะผนวกรวมระบบนิเวศเข้ากับการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

หลายประเทศในทวีปกำลังเตรียมเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชาชน เสือโคร่งถูกคุกคามจากทั้งความเสี่ยงที่จะสูญเสียที่อยู่อาศัย รวมถึงภัยจากการล่า อีกทั้งประเด็นกระทบกระทั่งระหว่างเสือโคร่งกับชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

ปัจจุบัน รัฐบาลในเอเชียต่างกำลังก่อสร้างถนนและรางรถไฟความยาวกว่า 11,000 กิโลเมตรที่จะตัดผ่านที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง ยังไม่รวมถึงการขุดคลอง และการวางท่อส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ

 

Photo : Filipp Filipovich / Shuterstock

 

ประเทศจีน พม่า ไทย และมาเลเซีย ปัจจุบันเหลือประชากรเสือโคร่งประมาณ 500 ตัวที่อยู่อาศัยในผืนป่าระหว่างพรมแดน เสือจำนวนนี้อาจต้องสูญพันธ์ไปหากรัฐบาลยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามแผนเดิม

“ประเทศพม่าคือหัวใจของรายงานนี้” U Win Myint ผู้จัดการด้านนโยบายรัฐบาล WWF ประเทศพม่า กล่าว

รายงานระบุว่า พื้นที่ Dawna Tenasserim Landscape (DTL) ซึ่งครอบคลุมระหว่างชายแดนไทยและพม่า เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรเสือที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“เนื่องจากประชากรเสือในพม่ามีจำนวนค่อนข้างน้อย พวกมันจึงต้องพึ่งพาเสือในพรมแดนไทยเพื่อผสมพันธุ์และคงจำนวนประชากรไว้ให้คงเดิม” รายงานระบุ และอ้างถึงการก่อสร้างถนนจากกรุงเทพฯ – ทวาย ที่จะตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าว และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางของเสือในพื้นที่ DTL

“โครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวจะตัดผ่านกลางบ้านหลังสุดท้ายของเสือโคร่งในลุ่มน้ำโขง” U Win Myint กล่าว และเพิ่มเติมว่า “โครงสร้างพื้นฐานนั้นจำเป็นต่อการพัฒนาของพม่า แต่เราต้องมั่นใจว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะมีความยั่งยืน และไม่เป็นผลร้ายต่อประชากรเสือและพื้นที่ดังกล่าว”

 

 

การวางแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน และมาตรการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อปกป้องประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ได้จากที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง

การล่าเสือโคร่งและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้ประชากรเสือโคร่งตามธรรมชาติลดลงกว่าร้อยละ 97 ในศตวรรษที่ผ่านมา ปี พ.ศ. 2553 คาดว่าประชากรเสือโคร่งหลงเหลือเพียง 3,200 ตัวตามธรรมชาติ จากเดิม 100,000 ตัวในศตวรรษที่ผ่านมา

เมื่อ พ.ศ. 2553 รัฐบาลพม่าเป็นหนึ่งใน 13 รัฐบาลที่ร่วมลงนามในภารกิจเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2565 ในที่ประชุม ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย

ปีที่ผ่านมา ระยะเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายผ่านพ้นไปครึ่งทาง และมีการคาดว่าประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 3,890 ตัว โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในประเทศอินเดีย รัสเซีย เนปาล และภูฏาน

การตัดถนนผ่านผืนป่าที่ไม่เคยถูกรบกวนมาก่อนบริเวณชายแดนไทย-พม่า ย่อมเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักล่าสัตว์ สามารถเดินทางเข้าไปล่าเสือโคร่งได้ง่ายขึ้น

“ข่าวดีคือเรายังมีทางออกอื่น และตอนนี้ยังไม่สายเกินไป แต่หากหลายประเทศยังไม่ให้ความสำคัญ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอาจไม่สามารถฟื้นฟูได้” Mike Baltzer ผู้อำนวยการโครงการ Tiger’s Alive Initiative กล่าว

 

 

 

อ่านรายงาน “The Road Ahead: Protecting tigers from Asia’s infrastructure development boom” โดย WWF

 

 

 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Infrastructure boom threatening tigers โดย Kyi Kyi Sway
ถอดความโดย รพีพัฒน์อิงคสิทธิ์