พลาสติกไปที่ไหน ปะการังป่วยที่นั่น

พลาสติกไปที่ไหน ปะการังป่วยที่นั่น

ณ แนวปะการังขนาดยักษ์เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ประเทศออสเตรเลีย นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปะการัง โจลีอาร์ แลมบ์ (Joleah Lamb) ใช้เวลาหลายปีเพื่อศึกษาว่ากิจกรรมของมนุษย์นั้นส่งผลอะไรบ้างต่อแนวปะการัง ตั้งแต่มลภาวะ การประมงพาณิชย์ การดำน้ำตื้น รวมถึงกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างๆ

สิ่งหนึ่งที่เธอและทีมงานของเธอไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักคือขยะพลาสติก “มันไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของเรามากนัก” เธอกล่าว แต่ความคิดของเธอก็เปลี่ยนไปหลังจากที่เธอและเพื่อนร่วมงานได้ศึกษาแนวปะการังนอกชายฝั่งประเทศอินโดนีเซีย พม่า รวมถึงอีกหลายแห่งบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเธอพบทั้งผ้าอ้อม ขวดน้ำพลาสติก และถุงพลาสติกถูกทิ้งปะปนอยู่ในระบบนิเวศที่แสนเปราะบาง

คณะวิจัยได้เก็บข้อมูลขยะที่พบตลอดการทำงาน และได้ข้อสรุปจากข้อมูลเหล่านั้นว่า หลังจากที่แนวปะการังปนเปื้อนด้วยขยะพลาสติก ปะการังมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยมากกว่าปะการังทั่วไปถึง 20 เท่า

“การเพิ่มขึ้นดังกล่าวอยู่ในระดับที่น่าตกใจอย่างยิ่ง” มาร์ค เอคิน (Mark Eakin) ผู้จัดการโครงการ Coral Reef Watch ประจำองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) แม้ว่าเขาจะไม่ได้ร่วมอยู่ในทีมที่ศึกษางานวิจัยดังกล่าว แต่ก็เป็นนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันหลายชิ้น ปัญหาดังกล่าวนับว่า “มีความสำคัญมากกว่าที่เราเคยตระหนักถึง”

 

อย่างไรก็ดี พลาสติกเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุดซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมมนุษย์ซึ่งเป็นต้นเหตุที่สร้างความเครียดแก่แนวปะการังผู้เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดสรรพชีวิตในท้องทะเล

 

สารสังเคราะห์ดังกล่าวได้เพิ่มอัตราความเจ็บป่วยต่อแนวปะการังที่ถือว่าเป็นประเภทที่มีภูมิต้านทานสูง ผลการวิจัยดังกล่าวทำให้การจัดการและอนุรักษ์แนวปะการังในอนาคตต้องคำนึงถึงปัญหาขยะพลาสติก และหลายประเทศต้องให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะเพื่อลดปัญหาที่พลาสติกจะมาปนเปื้อนในมหาสมุทร

การลดมลภาวะพลาสติกอาจไม่ใช่การรักษาแนวปะการัง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะลดแรงกดดันจากภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือการประมงเกินขนาด และคลื่นความร้อนที่ทำให้ปะการังฟอกขาว แรงกดดันดังกล่าวผลักให้ชะตากรรมปะการังอยู่ในสภาวะ ‘คอขวด’ โดยคาดว่าปริมาณปะการังทั่วโลกจะลดลงและเปลี่ยนประเภทไปเป็นชนิดพันธุ์ที่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้ การตัดมลภาวะพลาสติกออกไปจะช่วยให้ปะการังมีโอกาสในการอยู่รอดเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง

ภาพที่เต่าทะเลกินถุงพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นแมงกะพรุน หรือภาพแนวขยะพลาสติกกลางทะเลขนาดยักษ์กลายเป็นพาดหัวข่าวต่อเนื่องมาหลายปี แต่ภาพเหล่านั้นเป็นเพียงบางส่วนของผลกระทบจากพลาสติก เทอร์รี ฮิวจ์ส (Terry Hughes) ผู้จัดการศูนย์ศึกษาแนวปะการัง ARC ประเทศออสเตรเลียเล่าว่าแม้แต่แนวปะการังซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศอินโดนีเซีย เขายังพบปริมาณพลาสติกที่ถูกพัดพามาเป็นจำนวนไม่น้อย

งานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า พลาสติกซึ่งพบในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นบ้านของปะการังกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เพิ่มโอกาสที่จะพบโรคซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตปะการังเพิ่มจากร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 89 โดยทีมวิจัยคาดว่ามีพลาสติกราว 11 พันล้านชิ้นปนเปื้อนอยู่ตามแนวปะการังจากพม่าไปจนถึงออสเตรเลีย

 

PHOTO : Paul Kennedy Getty Images

 

ส่วนคำถามที่ว่าถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และเอ็นตกปลาทำให้ปะการังป่วยได้อย่างไรนั้น นักวิจัยกำลังค้นหาคำตอบอยู่ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่า แบคทีเรียที่ทำให้ปะการังป่วยหรือตายอาจลอยมาพร้อมกับเศษพลาสติกเหล่านั้น พลาสติกยังอาจสร้างบาดแผลบนพื้นผิวที่บอบบางของปะการังเมื่อเกิดการเสียดสี ทำให้แบคทีเรียปนเปื้อนได้ง่าย และปะการังต้องแบ่งพลังงานจากระบบภูมิคุ้มกันมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเหล่านั้นอีกด้วย

บางครั้ง พลาสติกอาจปกคลุมปะการังทำให้แสงแดดส่องลงมาไม่ถึง และเกิดสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำซึ่งเหมาะกับการเติบโตของแบคทีเรียหลายชนิด เช่น แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรควงดำ (black band disease) ที่จะเป็นแนวยาวสีดำค่อยๆ กัดกินเนื้อเยื่อของปะการัง

ปะการังบางชนิด เช่น ปะการังเขากวาง มีความเสี่ยงที่จะเกี่ยวและถูกรัดโดยพลาสติกค่อนข้างสูง ซึ่งสร้างความกังวลแก่นักนิเวศวิทยา เพราะเหล่าปะการังที่ยื่นและหงิกงอเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพแก่แนวปะการัง และยังเป็นแหล่งอนุบาลของปลาชั้นดีอีกด้วย

ปะการังที่มีรูปร่างทรงกลมจะเผชิญความเสี่ยงจากพลาสติกน้อยกว่า แต่หากสัมผัสโดนพลาสติกเมื่อไหร่ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคมากกว่าปะการังชนิดอื่นถึงสองเท่า สร้างความกังวลให้กับทีมวิจัยเนื่องจากปะการังลักษณะดังกล่าวมักจะรอดจากสภาวะฟอกขาว มลภาวะพลาสติกจึงเป็นภัยคุกคามไม่กี่อย่างต่อปะการังเหล่านี้

อย่างไรก็ดี พลาสติกเป็นเพียงหนึ่งในภัยคุกคามอีกหลายชนิดต่อแนวปะการัง เช่น การปนเปื้อนของปุ๋ยในทะเล การที่น้ำทะเลกลายสภาพเป็นกรด การประมงเกินขนาด และอุณหภูมิในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดสภาวะฟอกขาว หรือการที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยสาหร่ายเหล่านั้นจะผลิตอาหารและพลังงานให้แก่ปะการัง คณะวิจัยกล่าวว่ามลภาวะพลาสติกไม่ใช่เรื่องดีต่อปะการัง แต่ก็นับว่ามีผลกระทบน้อยกว่าหากเปรียบเทียบกับปัญหาการฟอกขาว

 

เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อปะการังราวร้อยละ 75 ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แม้แต่บริเวณแนวปะการังที่ได้รับการปกป้องอย่างดี เช่น เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ยังสูญเสียปะการังไปถึงร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน ภาวะน้ำทะเลอุ่นมีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้น นั่นหมายความว่าปะการังจะมีเวลาในการฟื้นฟูตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ

 

การหยุดการปนเปื้อนของพลาสติกในทะเลจะช่วยลดแรงกดดันต่อปะการังในช่วงพักฟื้น เดวิด เลวีน (David Levine) นักชีววิทยาปะการังจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์ (Scripps Institution of Oceanography) เปรียบเทียบสถานการณ์ว่าคล้ายกับคนที่ทั้งดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และนอนน้อย ปัจจัยดังกล่าวย่อมทำให้ป่วยไข้ได้ง่าย และการลดการดื่ม การสูบ และพักผ่อนให้มากขึ้นย่อมช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว

นิโคลัส มัลลอส (Nicholas Mallos) จาก Ocean Conservancy มองว่าความพยายามในการลดมลภาวะพลาสติกเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกและมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะขยะพลาสติกเริ่มกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น รัฐบาลหลายแห่งก็เริ่มห้ามการใช้ถุงพลาสติก หรือเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ถุงพลาสติก นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งก็เริ่มมองหาทางลดพลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน

เขามองอย่างมีความหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาแก้ไขปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งปะการังได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องขยะ” บนพื้นที่ชายหาดที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว รวมถึงการร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อจัดการเศษขยะพลาสติกในแหล่งน้ำ เพื่อลดปริมาณการปนเปื้อนของพลาสติกในทะเล

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Where Plastic Goes, Coral Disease Follows
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง เกาะพีพี ประเทศไทย จากเว็บไซต์ hungertv.com