การศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่าประชากรปลาอพยพน้ำจืดลดลงถึง 76 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ผลลัพธ์ดังกล่าวนับว่าน่ากังวลเพราะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์ป่าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางอาหารให้หลากหลายภูมิภาคทั่วโลก
ปลาน้ำจืดเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของประชากรกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทของทวีปเอเชียและแอฟริกา ปลาอพยพเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญของสัตว์น้ำที่จับได้ เช่นในลำน้ำโขง ปลาอพยพคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของปริมาณปลาทั้งหมดที่จับได้ในแต่ละปีซึ่งมีปริมาณกว่า 2 ล้านตัว หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์น้ำที่จับได้ทั่วโลก
แต่การลดลงของปลาอพยพเกี่ยวข้องอย่างไรกับพลังงาน?
จริงๆ แล้วสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันมากกว่าที่หลายคนคิด เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรปลาอพยพมีปริมาณลดลง การขยายเขื่อนผลิตไฟฟ้ายังเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลที่สุดต่อชนิดพันธุ์ปลาที่ยังอยู่รอด
การพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำจึงเป็นความยุ่งยากที่ต้องแลกได้แลกเสียระหว่างความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อจัดการความท้าทายดังกล่าว เทคโนโลยีนั้นคือโครงสร้างบันไดปลาโจนซึ่งนับว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนักโดยเฉพาะในแม่น้ำเขตร้อนชื้นที่ผู้พัฒนาโครงการนำเสนอว่าเป็นทางออก
ข้อจำกัดของบันไดปลาโจนในการแก้ไขปัญหาทำให้เราเห็นว่าประเด็นที่สำคัญกว่าการก่อสร้างแล้วหาทางแก้ไข คือการพิจารณาวางแผนกลยุทธ์การลงทุนที่จะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงผลกระทบตั้งแต่แรก
แรงขับสำคัญบางประการที่ทำให้เหล่าปลาอพยพต้องย้ายถิ่นฐานมีทั้งเรื่องอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล แต่ที่สำคัญที่สุดคือแหล่งสำหรับวางไข่ ชาวอเมริกันและสหภาพยุโรปคงคุ้นชินกับความต้องการเหล่านี้ของปลาอพยพ และเส้นทางอพยพที่ถูกขัดขวางโดยเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะแม่น้ำทั้งในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปตอนเหนือได้สูญเสียฝูงปลาแซลมอนที่ครั้งหนึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเขื่อนใหญ่ปิดกั้นเส้นทางให้แซลมอนอพยพขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำ
แม่น้ำโคลัมเบียเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนว่าด้วยการแลกได้แลกเสียจากการพัฒนาเขื่อนใหญ่และผลกระทบทางธรมชาติที่ตามมา ปัจจุบัน ลุ่มน้ำโคลัมเบียผลิตไฟฟ้าได้กว่า 100 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากน้ำทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ประชากรแซลมอนลดลงจาก 16 ล้านตัวเหลือเพียง 2 ล้านตัวเท่านั้น
โดยสรุปแล้ว ปลาอพยพต้องการแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั่วโลกหลงเหลือแม่น้ำที่ยังไหลอย่างอิสระเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น โดยสาเหตุที่สายน้ำถูกตัดขาดก็เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การสูญเสียสายน้ำที่ไหลอย่างอิสระนี้เองที่ทำให้ประชากรปลาอพยพลดลงอย่างฮวบฮาบ
เราจะทำอย่างไรให้ผลกระทบจากเขื่อนต่อปลาอพยพลดลง?
เราคาดหวังอย่างมากกับโครงสร้างเส้นทางปลาโจนในการช่วยลดผลกระทบ ซึ่งเราเข้าใจเอาเองว่าโครงสร้างดังกล่าวน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ในเมื่อเขื่อนกั้นเส้นทางอพยพ เส้นทางปลาโจนก็คือโครงสร้างใหม่ในรูปแบบบันไดหรือลิฟต์ที่สร้างขึ้นเพื่อพาปลาอพยพเดินทางพ้นจากเขื่อนที่กั้นเส้นทางอยู่
เทคโนโลยีเส้นทางปลาโจนพัฒนามาสำหรับปลาแซลมอน นักวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบคงไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้เพื่อทดสอบว่าเส้นทางปลาโจนสามารถใช้งานได้หรือไม่ เพราะแซลมอนเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีความสามารถในการกระโดดที่น่าประทับใจ การศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2555 ว่าด้วยประสิทธิผลของเส้นทางปลาโจนพบว่าโครงสร้างดังกล่าวทำงานได้ดีกับปลาแซลมอนมากกว่าปลาประเภทอื่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยแซลมอนมีอัตราความสำเร็จในการว่ายทวนน้ำที่ 62 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าอัตราความสำเร็จจะดูสมเหตุสมผล แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าแม่น้ำแต่ละแห่งมีเขื่อนมากกว่าหนึ่งเขื่อน หมายความว่าแซลมอนต้องฝ่าด่านเส้นทางปลาโจนหลายต่อหลายครั้งก่อนจะถึงสถานที่วางไข่ หากการอพยพขึ้นเหนือน้ำมีเขื่อนสองแห่ง อัตราความสำเร็จจะลดลงเหลือ 38 เปอร์เซ็นต์ หากเพิ่มเป็นสามเขื่อน อัตราความสำเร็จจะเหลือ 23 เปอร์เซ็นต์
อย่าลืมว่าอัตราความสำเร็จข้างต้นคืออัตราของปลาแซลมอนซึ่งเทียบเท่ากับความสามารถของนักว่ายน้ำระดับทีมชาติ แต่หากเป็นปลาชนิดอื่น อัตราความสำเร็จจะหลงเหลือเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ ด้วยอัตราดังกล่าว ประชากรที่ประสบความสำเร็จในการอพยพขึ้นเหนือน้ำจะลดลงเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นหลังจากพ้นเขื่อนที่สอง
อย่างไรก็ดี โครงสร้างเส้นทางปลาโจนกลับกลายเป็นเทคโนโลยีบรรเทาผลกระทบของเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อชนิดพันธุ์ปลาอพยพหลายร้อยชนิดที่แทบไม่มีความใกล้เคียงใดๆ กับแซลมอน
เส้นทางปลาโจนที่ออกแบบในสหรัฐอเมริกาออกแบบมาเพื่อปลาสิบชนิดพันธุ์ที่มีทักษะการว่ายน้ำค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่เส้นทางปลาโจนเหนือลำน้ำโขงจะต้องครอบคลุมปลาหลายร้อยชนิดพันธุ์ มีความหลากหลายทั้งขนาดและน้ำหนัก ปลาบางตัวว่ายน้ำเก่ง บางตัวไม่เก่งนัก บางตัวถนัดว่ายผิวน้ำ และอีกจำนวนไม่น้อยชอบว่ายใกล้ท้องน้ำ
ถึงแม้ว่าแม่น้ำโขงจะมีความหลากหลายและความซับซ้อน และไม่มีตัวอย่างโครงการที่สามารถฝ่าฟันความท้าทายที่ใกล้เคียงกัน เส้นทางปลาโจนกลับถูกนำเสนอว่าเป็นทางออกแก่ปลาอพยพเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวที่เริ่มเดินเครื่องเมื่อปีที่ผ่านมา และเขื่อนอีก 11 แห่งเหนือลำน้ำโขงตอนล่างที่เตรียมเดินหน้าในอนาคต
ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี เจ้าหน้าที่ลาวได้นำเสนอวีดีโอตัวอย่างของปลาที่สำรวจเส้นทางปลาโจนเพื่อขึ้นไปเหนือน้ำ วีดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความท้าทายไม่น้อยที่ปลาต้องทำให้ได้ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุในบทความว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวพูดว่า “บางที เราอาจจำเป็นต้องฝึกสอนวิธีใช้งานลิฟต์ให้ปลาในแม่น้ำเสียก่อน”
แน่นอนว่าโครงการฝึกสอนปลาอาจไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้มากนัก แต่ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ความรู้สมัยใหม่ทำให้เราทราบว่ายังมีพลังงานทางเลือกอื่นๆ นอกจากการก่อสร้างเขื่อน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้องมาปวดหัวกับการแลกได้แลกเสียระหว่างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากับความสูญเสียของประชากรปลาที่ใช้เส้นทางปลาโจนที่ล้าสมัย
การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนทำให้ต้นทุนพลังงานลมและแสงอาทิตย์ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมากในการกักเก็บพลังงานและการบริการกริดไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้สร้างความเป็นไปได้ใหม่สำหรับการพัฒนาระบบพลังงานต้นทุนต่ำและคาร์บอนต่ำ ในขณะเดียวกันก็สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น ผลกระทบต่อประชากรปลาอพยพ
ขณะที่แผนก่อสร้างเขื่อนเหนือลำน้ำโขงสายหลักยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการเหล่านั้นจะระดมเงินทุนจากแหล่งใด เพราะแม้แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังไหลสู่พลังงานลมและแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเพิ่มขึ้น 40 เท่าจาก 134 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2561 เป็น 5,500 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศลาวเองก็จะเสนอโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 1,200 เมกะวัตต์ที่มีแผงพลังงานบางส่วนลอยอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำ การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ยังเพิ่มขึ้นอย่างมากในกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ
แนวโน้มต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กัมพูชาตัดสินใจชะลอการก่อสร้างเขื่อนเหนือลำน้ำโขงไป 10 ปี จุดก่อสร้างเขื่อนซำบอ (Sambor) ถูกกล่าวขานโดยนักอนุรักษ์ว่าเป็นจุดก่อสร้างเขื่อนที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อปลาอพยพ
นวัตกรรมใหม่ๆ ในแวดวงพลังงานหมุนเวียนจึงอาจกลายเป็นคำตอบของความท้าทายที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากับประชากรปลาอพยพ ปัญหาที่เส้นทางปลาโจนไม่ใช่คำตอบ ทางเลือกแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำจะช่วยลดแรงกดดันในการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ หากกริดไฟฟ้ายังจำเป็นต้องใช้พลังงานจากเขื่อน เจ้าของโครงการอาจเลือกสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่น่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด
ในลุ่มน้ำที่มีการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน การพัฒนาหรือเพิ่มโครงสร้างเส้นทางปลาโจนอาจช่วยเหลือปลาอพยพได้บ้าง แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับปลาอพยพคือการทลายเขื่อนดังกล่าวลง เช่น โครงการทลายเขื่อนเหนือแม่น้ำ Elwha ในสหรัฐอเมริกา หรือแม่น้ำ Sélune ในฝรั่งเศส ประชากรปลาอพยพสามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วเพียงมีแม่น้ำที่ไหลได้อย่างอิสระ เช่นปลาเฮอร์ริงแม่น้ำที่เพิ่มจำนวนจากไม่กี่พันตัวสู่ประชากรนับล้านตัวหลังจากที่เขื่อนถูกทำลาย
สำหรับแม่น้ำแม่โขง ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และระบบแบตเตอรีเก็บพลังงาน อาจเป็นทางออกที่จะช่วยรักษาแม่น้ำให้ยังไหลได้อย่างอิสระ รวมถึงประชากรปลาอพยพที่ยังคงอุดมสมบูรณ์
ถอดความและเรียบเรียงจาก Solar Power Can Help Halt Dramatic Decline Of Migratory Fish