นเรนทระ โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ตั้งมั่นว่าจะหยุดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกชนิดในประเทศอินเดียภายใน พ.ศ. 2565 การริเริ่มดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดมลภาวะพลาสติกซึ่งมีจุดกำเนิดจากประชากรอินเดียกว่า 1.3 พันล้านชีวิต และยังเป็นระบบเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย ตามการรายงานของสำนักข่าว the Guardian
“การตัดสินใจของเราในวันนี้ จะเป็นการนิยามอนาคตของเราทุกคนในวันข้างหน้า” นเรนทระ โมที ระบุ “แม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่จากการตระหนักรู้ของสาธารณะ เทคโนโลยี และความร่วมมือในระดับโลก ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถตัดสินใจเลือกเดินในทางที่ถูกที่ควรได้ ผมอยากให้เราร่วมกันแก้ปัญหามลภาวะพลาสติก และร่วมสร้างโลกให้น่าอยู่มากกว่าเดิม”
ในวาระวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานระบุความพยายามของแต่ละประเทศทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกเช่นศรีลังกาที่ห้ามใช้สไตโรโฟมและเคนยาที่ห้ามใช้ถุงพลาสติก
ทุกๆ ปี ขยะพลาสติกปริมาณกว่า 5 ล้านเมตริกตันมีจุดจบอยู่ในมหาสมุทร การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า ภายใน พ.ศ. 2593 เราจะมีปริมาณพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร อีกทั้งการปนเปื้อนดังกล่าวอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งค้นพบพลาสติกขนาดจิ๋วในน้ำดื่มบรรจุขวด และมันมีขนาดเล็กมากพอที่จะหลุดเข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหาร ในประเทศไทย มีการพบวาฬเสียชีวิตโดยมีสาเหตุจากการกินพลาสติกกว่า 80 ชิ้นจากทะเล
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรากำลังเข้าสู่วิกฤตการณ์พลาสติก” อีริค โซลไฮม์ (Erik Solheim) หัวหน้าโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์กับ the Guardian เขายังกล่าวชื่นชมอินเดียอีกว่า “อินเดียได้แสดงให้เห็นว่าแรงบันดาลใจทางการเมืองสามารถเปลี่ยนเป็นการกระทำเชิงปฏิบัติที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่าแท้จริง”
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรก็ได้ให้คำมั่นคล้ายคลึงกัน โดยประกาศว่าจะกำจัดพลาสติกที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมดภายใน พ.ศ. 2585 ในขณะที่อินเดียวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างชายหาดปราศจากมลภาวะพลาสติกเป็นความยาวกว่า 4,660 ไมล์ และตั้งเป้าให้อนุสรณ์สถาน 100 แห่งเป็นพื้นที่ปลอดขยะ
“การเติบโตทางวัตถุไม่ได้หมายความว่าต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเสมอ และเราต้องตระหนักเสมอว่าสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาดจะทำร้ายผู้ยากไร้และผู้คนชายขอบเป็นอันดับแรก” นเรนทระ โมที กล่าว “เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเลือกทางที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ทำร้ายสิ่งแวดล้อม”