งูหลายสายพันธุ์กำลังลดลง เพราะการสูญพันธุ์ของกบ

งูหลายสายพันธุ์กำลังลดลง เพราะการสูญพันธุ์ของกบ

ภายหลังการระบาดของเชื้อราไคทริดทำให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันส่งกระทบให้จำนวนของงูลดน้อยลงเช่นกัน

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1998 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มบันทึกจำนวนการลดลงของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก ซึ่งพบว่าประชากรพวกมันกว่า 500 สายพันธุ์ได้ลดลงอย่างมาก และอาจมีมากกว่า 90 ชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากเชื้อแบคทีเรีย Batrachochytrium หรือที่รู้จักกันในชื่อเชื้อราสายพันธุ์ไคทริด (chytrid)

มาวันนี้ผลการศึกษาชิ้นใหม่โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ได้อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำว่ามีผลต่องูอย่างไร

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธุ์ ค.ศ. 2020 เปิดเผยรายละเอียดว่า หลังจากเชื้อราสายพันธุ์ไคทริดได้แพร่ระบาดเข้าไปคร่าประชากรกบจำนวนมากในผืนป่าของประเทศปานามา สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบต่อมาคือมันได้ส่งผลให้จำนวนงูลดลงไปเช่นกัน

คาเรน ลิปส์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ผู้ทำการวิจัย อธิบายถึงที่มางานวิจัยว่า “การศึกษานี้เน้นในเรื่องการหายไปที่มีเหตุมาจากการสูญเสียสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ”

งูหลากหลายชนิดดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการพึ่งพิงกบและไข่กบเป็นอาหาร ดังนั้น นักวิจัยจึงคาดว่า จำนวนของกบจะส่งผลกระทบต่อจำนวนของงูด้วย

อย่างไรก็ตามในการศึกษาสิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์เลื้อยคลานเช่นงูนั้นมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะพวกมันเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยความพิศวง ซึ่งการศึกษาเรื่องราวของพวกมันทำให้ค่อนข้างยากในพื้นที่ป่ารกชัฏ

ลิปส์ และเพื่อนร่วมงานของเธอได้เปรียบเทียบข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการสำรวจในช่วง 7 ปีก่อนเชื้อราไคทริดจะระบาดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  El Copé ประเทศปานามา “เมื่อเราเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้มาในช่วงก่อนหน้านี้ เราพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชุมชนของงู” นักวิจัยกล่าว “จำนวนสายพันธุ์ของงูลดลง หลายสายพันธุ์มีจำนวนน้อยลง แต่มีบางสายพันธุ์ที่จำนวนเพิ่มขึ้น และสภาพร่างกายของงูหลายตัวก็ดูย่ำแย่ลงหลังจากกบลดลง งูบางตัวดูผอมกว่าลักษณะปกติ และก็ดูเหมือนว่าพวกมันกำลังประสบภาวะอดอยาก”

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่อาจบอกได้ว่ามีงูจำนวนกี่สายพันธุ์ที่ลดจำนวนลง ดังที่กล่าวไปว่าการสำรวจสิ่งมีชีวิตเช่นงูนั้นทำได้ค่อนข้างยาก

บางสายพันธุ์อาจพบเห็นเพียงครั้งเดียวระหว่างการสำรวจหลังการระบาดของเชื้อราไคทริด ทำให้นักวิจัยยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันหายไปเพราะเชื้อราหรือเพราะหาพวกมันไม่เจอ แต่ทว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์งูที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด (อย่างน้อยคือสังเกตเห็นได้ 5 ครั้งตลอดระยะเวลาสำรวจ) ได้ลดลงอย่างแน่ชัดหลังจากที่จำนวนกบลดลงหรือสูญพันธุ์ไป

ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงสถิติยืนยันได้ว่าความหลากหลายทางสายพันธุ์ได้ลดลงเป็นอย่างมาก

นักวิจัยมั่นใจว่า การเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาสังเกตเห็นในสังคมงูครั้งนี้เกิดจากการลดลงของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ไม่ใช่มาจากปัจจัยแวดล้อมด้านอื่นๆ เพราะพื้นที่ศึกษาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่ไม่ได้รับผลกระทบในประเด็นการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนด้านมลพิษหรือภัยคุกคามอื่นๆ ที่อาจเป็นปัจจัยให้จำนวนของงูลดลงเลย

ความห่างไกลสภาพแวดล้อมรบกวนของพื้นที่อนุรักษ์ และข้อเท็จจริงที่ได้จากการสำรวจก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อรา แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศหลังการหายไปของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างรุนแรง

 

  • อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
เรียบเรียงจาก When frogs die off, snake diversity plummets