เมื่อปลายปี 2020 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD) ได้จัดทำรายงานในหัวข้อที่ว่าด้วย “แอนโทรโปซีน” หรือยุคทางธรณีวิทยาใหม่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ พร้อมวิเคราะห์ว่า “เราจะก้าวข้ามผ่านวิกฤติสภาพภูมิอากาศนี้ได้อย่างไร”
ในรายงานหัวข้อ “The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene,” ผู้เขียนรายงานได้บรรยายเรื่องราวด้วยการประพันธ์อย่างมีสุนทรีย์ ซึ่งไม่ค่อยปรากฎในงานของแวดวงการพัฒนาสักเท่าไหร่ แต่นั่นกลับช่วยให้รายงานสามารถบรรยายถึงหายนะของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและผิดปกติ ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ ได้อย่างเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
แม้เนื้อหาในรายงานจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่มนุษยชาติต้องเผชิญ ทั้งจากภาวะโลกร้อนขั้นรุนแรง การสูญพันธุ์ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต การสูญเสียทรัพยากร และความล่มสลายทางระบบนิเวศ แต่ก็ยังมีด้านที่มองโลกในแง่ดีมีความหวัง จากคำเรียกร้องให้ประเทศต่างๆสร้างบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นใหม่ สร้างสิ่งจูงใจทางการเศรษฐกิจการเงินใหม่ๆ และลงทุนในการแก้ไขปัญหาที่เอื้ออิงกับธรรมชาติ
“ถ้าผู้คนมีพลังในการสร้างยุคทางธรณีวิทยาใหม่ทั้งหมด ผู้คนก็มีพลังในการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน” ความตอนหนึ่งในรายงาน และ “เราไม่ใช่คนรุ่นสุดท้ายของแอนโทรโปซีน เราเป็นคนแรกที่รับรู้ เราคือนักสำรวจผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะตัดสินใจได้ว่าแอนโทรโพซีนรุ่นแรก จะถูกจดจำไว้ว่าอย่างไร”
.
.
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา UNDP ได้เผยแพร่ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แทนที่จะเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมัน ซึ่ง HDI จะพิจารณาว่าประเทศหนึ่งๆ ให้บริการแก่พลเมืองของตนได้ดีเพียงใด
สำหรับรายงานล่าสุด ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อปลายปี 2020 เป็นครั้งแรกที่ UNDP ได้เปิดตัว HDI ที่วิเคราะห์ผลกระทบของดาวเคราะห์ ซึ่งรวมเอารอยเท้าคาร์บอนและปริมาณการใช้ทรัพยากรต่อหัว เพื่อทำความเข้าใจว่าประเทศหนึ่งๆ สร้างผลกระทบต่อโลกและทรัพยากรธรรมชาติไปเท่าไหร่
ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ต้องเผชิญกับคะแนน HDI ที่ลดต่ำลงอย่างมาก เมื่อมีการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมไว้ในรายงาน ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลียมีรอยเท้าคาร์บอนต่อหัวและปริมาณการใช้ทรัพยากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นอกจากนี้ประเทศยังล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้เขียนรายงานต้องการให้ผู้อ่านมองข้ามระดับการปล่อยมลพิษโดยรวม เพื่อระบุสาเหตุหลักของการลดลงของสิ่งแวดล้อม รายงานระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นและการเผาผลาญทรัพยากรส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความไม่เท่าเทียมทาง และการตัดสินใจลงทุนจะกระจุกตัวอยู่กับบุคคลที่มีฐานะทางสังคม
“คนที่ยากจนที่สุดในโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่าๆ กับที่พวกเขาเคยปล่อยในปี 1980 ในขณะที่การปล่อยมลพิษรายปีของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเพียง 1% เพิ่มขึ้น 35 ตันต่อหัวโดยเฉลี่ย” รายงานระบุ
.
.
ประชากร 1% ที่ร่ำรวยที่สุดของโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 100 เท่า และเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 50% ของกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลก และความไม่เท่าเทียมนี้เลวร้ายลงอย่างมากจากการระบาดของ COVID-19
“ในขณะที่ผลกระทบร้ายแรงของ COVID-19 ได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่วิกฤตด้านอื่นๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงความไม่เท่าเทียมกลับไม่ได้รับความสนใจ” ตามบันทึกในรายงาน
ในรายงานระบุว่า การรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และฐานวิถีชีวิตใหม่ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาสามสิ่ง ประกอบด้วย บรรทัดฐานทางสังคมใหม่ แรงจูงใจทางการเงิน และวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
บรรทัดฐานทางสังคม อาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ก็ดูเหมือนว่าประชากรทั่วโลกจะเริ่มรับรู้ และหันมามีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดย 78% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกำลังกลายเป็นเรื่องกระแสหลัก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย ผู้คนเริ่มมองหาอาหารและใช้ชีวิตในวิถีใหม่ๆ และแผนการชดเชยคาร์บอนฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ปรับโครงสร้างความสัมพันธ์กับโลกขึ้นมาใหม่ และพัฒนาแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวที่จะส่งเสริมบรรทัดฐานใหม่ของสังคม
.
.
ประการแรกที่สำคัญ จะต้องยุติการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้ได้อย่างรวดเร็ว และแทนที่ด้วยแรงจูงใจสำหรับพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ยังสามารถลงทุนในโครงการฟื้นฟูสัตว์ป่า ส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ เป็นกลางทางคาร์บอนฯ สนับสนุนการเกษตรรูปแบบใหม่ และอุดหนุนการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ
ตามรายงานของ The Nature Conservancy พบว่าการแก้ไขปัญหาเชิงกลยุทธ์ที่อิงกับธรรมชาติจะลดการปล่อยมลพิษลงได้ 37% เพื่อป้องกันไม่ให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียส
ในอีกด้านหนึ่ง ยังเสนอให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ในรายงานได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเหล่านี้ และสามารถนำมาเป็นหนึ่งในแนวทางของการตัดสินใจลงทุนได้
รายงานระบุว่า การให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง จะช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ที่จะอาศัยอยู่ในยุคแอนโทรโพซีนควบคู่กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกทั้งหมด
อ้างอิง ‘Balance Between People and Planet’: UN Report Calls for 3 Things to Navigate Climate Crisis
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม