เป็นเวลาหนึ่งปีผ่านมา นับจากพบการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรกที่คาดกันว่าอาจมีต้นตอมาจากจากตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น
แต่ทว่าเรื่องราวต้นกำเนิดของไวรัสยังคงเป็นปริศนา
บรรดาสัตว์ต่าง ๆ ตั้งแต่ค้างคาว อ้น ตัวนิ่ม ตัวมิงค์ ถูกนักวิทยาศาสตร์นำมาศึกษาเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่พวกมันจะมีส่วนในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 ให้ติดต่อมาสู่คน
ในขณะที่ตลาดอู่ฮั่นยังคงปิดอยู่ – แต่ก่อนวันที่ตลาดจะถูกสั่งให้ปิด ที่นี่เป็นแหล่งค้าขายสัตว์นานา มีสัตว์ปีกมากกว่า 100 ชนิด และยังมีนกยูง ลูกหมาป่า ไปจนถึงอีเห็น
แต่วันนี้ไม่พบสัตว์ป่าและพ่อค้าในตลาดแห่งอื่น ๆ ของเมืองเลย ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากอดีตที่เคยเฟื่องฟูยิ่งนัก
พ่อค้าขายปลาไหลคนหนึ่งบอกกับ South China Morning Post ว่า หลังรัฐบาลมีคำสั่งห้าม ก็พบกับการตรวจสอบบ่อยครั้ง “ไม่มีการขายสัตว์ที่ยังเป็นๆ อีกแล้ว เพราะคุณอาจติดคุกได้”
การที่ทางการจีนลงมาลุยในเรื่องนี้ ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการค้าและการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าเปรียบได้ดั่งประเพณีทางวัฒนธรรมด้านอาหารการกินที่ฝังรากลงไปลึก
ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรสามารถมาหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ แม้กระทั่งว่าในอดีตจะเคยเกิดโรคระบาดรุนแรง (จากสัตว์) อย่างโรคซาส์มาแล้วก็ตาม
ในการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวในการประชุมว่า “เราตระหนักถึงปัญหานี้มานานแล้ว ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ป่านั้นมีความเสี่ยงสูง ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน เราจะทำเฉยกับเรื่องนี้ไม่ได้”
สภานิติบัญญัติของจีน ได้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อห้ามการค้าและการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังเพิ่มโทษในกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า – ในเดือนตุลาคมที่ร่างกฎหมายเผยแพร่ทางออนไลน์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ระบุค่าปรับของการกินเนื้อสัตว์ป่าไว้ที่ 2,000 – 10,000 หยวน (300 – 1,500 เหรียญสหรัฐ)
แม้ว่าจีนจะได้รับการยกย่องเรื่องการระงับการค้าสัตว์ป่าได้อย่างว่องไว แต่ในอีกแง่หนึ่งกลับพบช่องโหว่ถึงการควบคุมการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในด้านอื่น ๆ ซึ่งถูกมองว่ามันอาจไม่เป็นผลดีนักต่อการคุ้มครองในระยะต่อ ๆ ไป
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ศาลสูงของจีน กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ได้ออกคำสั่งร่วม โดยปฏิญาณว่าจะปราบปรามการล่าสัตว์ การจัดหาขนส่ง การนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย เพื่อ “ตัดห่วงโซ่ผลประโยชน์การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย”
ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุด คือ จำคุก ปรับ และยึดทรัพย์สินเป็นเวลากว่า 10 ปีและคาดว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจะมีความเข้มงวดตามคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการใช้ทำอาหาร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในมิติอื่น ๆ ก็ มีความสำคัญ หากต้องหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมา
ความยากบนความท้าทายต่อการจัดการเรื่องการค้าและบริโภคสัตว์ป่า คือ มันจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทบางแห่งที่ประชาชนได้รับการสนับสนุนให้เพาะพันธุ์สัตว์บางชนิด อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบรรเทาความยากจนของประเทศ เนื่องด้วยสัตว์ป่าถือเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภทในประเทศจีน รวมถึงยาแผนโบราณ และขนสัตว์
การห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ทำให้ผู้ทำอาชีพเพาะพันธุ์สัตว์หลายล้านคนต้องเผชิญปัญหาการหาเลี้ยงชีพ – หนึ่งในนั้นคือ Luo Bin วัย 36 ปี เจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์อ้นในกว่างซี เขาทำอาชีพนี้มานาน 12 ปี – เขาบอกว่า อ้นของเขากว่า 2,000 ตัวถูกรัฐบาลท้องถิ่นกำจัด โดยได้รับเงินชดเชยตัวละ 180 หยวน ซึ่งน้อยกว่าราคาตลาด 200 หยวน รวมถึงยังต้องเสียเงินที่ลงทุนในฟาร์มถึง 200,000 หยวน ซึ่งไม่มีการชดเชยในส่วนนี้
ในเดือนกันยายน Luo Bin ใช้เงินเก็บกว่า 100,000 หยวน มาลงทุนทำกิจการใหม่ นั่นคือการเพาะเลี้ยงหนอนไม้ไผ่ จนถึงขณะนี้ธุรกิจใหม่ของเขายังไม่ราบรื่นดีนัก “ผู้คนไม่ค่อยชอบหนอนไม้ไผ่ มันมีคนกินน้อยเมื่อเทียบกับอ้น” เขากล่าว
“ถึงธุรกิจหนอนไม้ไผ่จะแย่ แต่ก็ถือว่าฉันเป็นผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในหมู่บ้านของฉัน” Luo Bin เล่าว่ามีเพื่อนบ้านของเขาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนไปเปิดกิจการใหม่ โดยคนอื่น ๆ ที่เคยเพาะพันธุ์อ้นนำเงินที่ได้รับชดเชยไปใช้หนี้ที่กู้มาลงทุนจนหมด และเมื่อไม่มีทุนทำกิจการอื่น หลาย ๆ คนจึงอพยพเข้าไปเป็นแรงงานในเมือง
Luo Bin เล่าว่า แต่เดิมธุรกิจเพาะพันธุ์อ้นของเขาสร้างรายได้ประมาณ 200,000 หยวนต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อเลี้ยงดูครอบครัว และลูกอีกสามคนของเขา
ตลาดหลักของอ้นอยู่ในจังหวัดทางตอนใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ยูนนาน กุ้ยโจว และเสฉวน ตามรายงานของ The Beijing News ระบุว่าในหนึ่งปีมีอ้นกว่า 6 ล้านตัวถูกนำไปใช้ทำอาหาร
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ โครงการส่งเสริมให้ประชาชนเพาะเลี้ยงอ้นมีมูลค่าราว 7 พันล้านหยวน (1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ในมณฑลกว่างซีซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนของประเทศภูมิภาคนี้ รัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ให้มีโอกาสปรับตัวหลังประกาศห้ามไม่ให้มีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า
ทางออกหนึ่งคือการย้ายช่องทางทำมาหากินจากการขายในตลาดผู้บริโภคไปสู่ตลาดยาแผนโบราณ ซึ่งไม่ได้มีการห้ามในกฎหมายฉบับใหม่นี้
อาทิเช่น งู ซึ่งถูกถอดออกจากเมนูอาหาร กระนั้นงูก็ยังมีประโยชน์ในแง่การนำไปใช้เป็นยาแก้อาการไอ ขณะที่บางคนเชื่อว่าไวน์งูช่วยฟื้นฟูอาการไขข้อเสื่อม
รายงานในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Nanguo Zaobao ระบุว่า กว่างซีกำลังสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงงูหันมาขายถุงน้ำดีและดีงูเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางยา
ตามรายงานของ Chinese Academy of Engineering เมื่อ พ.ศ. 2560 ระบุว่า การค้าสัตว์ป่าในจีนมีมูลค่ามากถึง 520,000 ล้านหยวน (74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 14 ล้านคน ในบรรดาอุตสาหกรรมย่อยภาคขนสัตว์มีการจ้างงาน 7.6 ล้านคนและคิดเป็นร้อยละ 75 ของมูลค่ารวมของอุตสาหกรรม ภาคอาหารมีส่วนแบ่งร้อยละ 24 โดยส่วนที่เหลือเป็นส่วนของยา สัตว์เลี้ยง และภาคอื่น ๆ
นักสิ่งแวดล้อมได้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจีนที่ไม่ยอมพยายามจัดการกับมิติอื่น ๆ นอกจากเรื่องอาหารเพียงด้านเดียว ว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังและเป็นอันตรายร้ายแรง
“เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมาก ๆ ที่แนวทางอันทะเยอทะยานที่ถูกนำมาใช้เมื่อต้นปี ไม่ได้ถูกขยายไปสู่มิติอื่น ๆ นอกจากเรื่องอาหาร” Aron White นักรณรงค์ด้านสัตว์ป่าและผู้เชี่ยวชาญของจีน จากสำนักงานสืบสวนสิ่งแวดล้อมกล่าว “สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายใหม่ล้มเหลว ทั้งในแง่ของการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และความหลากหลายทางชีวภาพ”
“หากกฎหมายใหม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคจากสัตว์ป่า มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเลยที่จะห้ามเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเด็ดขาด ในขณะที่ยังอนุญาตและส่งเสริมรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป”
Aron White กล่าวว่าความต้องการยาทางการแพทย์แผนจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สัตว์ชนิดต่างๆเช่นเสือดาวและหมีสูญพันธุ์แต่การใช้ชิ้นส่วนของพวกมันเพื่อเป็นส่วนผสมทางยายังคงได้รับอนุญาตแม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายหลังจากที่เกิดโรคระบาดแล้วก็ตาม
“เมื่อนโยบายของรัฐบาลยังคงอนุญาตและให้มีการใช้ยาชนิดนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แทนที่จะส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรทดแทนอย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะลดความต้องการลง” เขากล่าว
Song Keming นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและผู้อำนวยการเขตอนุรักษ์นกในมณฑลเหอหนาน กล่าวว่า “กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่แก้ไขไม่ครอบคลุมถึงการขายสัตว์ป่าที่ไม่ใช่อาหาร สร้างช่องโหว่ขนาดใหญ่ และทำให้การบังคับใช้กฎหมายทำได้ยากมาก เมื่อคุณจับผู้ลอบล่าสัตว์ คุณจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าสัตว์ป่าตัวนั้นจะถูกใช้เป็นอาหารหรือไม่”
“จุดประสงค์ของการปกป้องผลประโยชน์ของยาแผนโบราณและอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั้นไม่จำเป็นเลย ผู้กำหนดนโยบายควรตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ป่ามากกว่าวิธีที่เราใช้ประโยชน์จากสัตว์เหล่านี้ การดำรงอยู่ของพวกเขามีความสำคัญอย่างยิ่งในตัวมันเอง”
Zhou Haixiang สมาชิกของ Chinese National Committee for Man and Biosphere ซึ่งเป็นกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การระบาดช่วยให้ประชาชนละทิ้งนิสัยการกินแบบเก่า และสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ
“ผู้กำหนดนโยบายต้องใช้เวลาในการตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และขยายการคุ้มครองจากสัตว์หายากไปสู่ระบบนิเวศทั้งหมด” เขากล่าว “วิกฤตด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งกระตุ้นที่ดี แต่เราต้องการมุมมองที่ดีกว่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาระบบนิเวศของเรา”
อ้างอิง Game over for China’s wildlife food trade, but does ban go far enough?
ภาพเปิดเรื่อง Amnat/Alamy
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม