ในรายงานที่เพิ่งเผยแพร่ผ่านวารสาร New England Journal of Medicine ได้วิเคราะห์ผลลัพทธ์อันน่ากังวล จากกรณีที่บ่งชี้ว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตของประชากรมากกว่า 250,000 รายต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่องค์กรอนามัยโลกได้ประเมินไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งนั่นอาจเป็นประเมินที่ต่ำเกินไป
ในปี พ.ศ. 2557 องค์กรอนามัยโลกเคยแถลงว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นำมาซึ่งโรคมาลาเรีย ท้องร่วง ความเครียดจากอากาศร้อน และโรคขาดสารอาหาร ที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
ปัจจุบันได้มีการนำผลวิจัยนี้มาทบทวนอีกครั้ง โดย Sir Andrew Haines ผู้เขียนงานวิจัยร่วม คิดว่าสุขภาพของเรามีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และเขาเชื่อว่าอัตราการเสียชีวิต 250,000 รายต่อปี เป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป
“เราคิดว่าการประเมินผลกระทบนั้นทำได้ยาก เพราะปัจจัยเรื่องการกระจายตัวของประชากรรวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมาก เช่น การผลิตอาหาร จำนวนผลผลิต การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่จะลดทอนประสิทธิภาพของแรงงานเกษตรกรในพื้นที่เขตร้อน” Haines นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษ และอดีตผู้อำนวยการ London School of Hygiene & Tropical Medicine กล่าว
เพียงแค่ปัญหาความขาดแคลนอาหารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเด็นเดียว อัตราสุทธิของผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเป็น 529,000 รายภายในปี พ.ศ. 2593
ในรายงานที่ทบทวนใหม่เขียนไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถทำให้ประชากร 100 ล้านคน กลายเป็นผู้ยากจนได้ภายในปี พ.ศ. 2573 และความยากจนก็จะยิ่งทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากยิ่งขึ้น
Haines เสริมต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นภัยสำคัญทางสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ แต่สิ่งที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์อาจไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว
การสูญเสียทรัพยากรน้ำจืด การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความเป็นกรดในมหาสมุทร อุตสาหกรรมประมงเกินขนาด มลพิษทางอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการแพร่กระจายของสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบของภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพประชาชน
“มันเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องทำความเข้าใจถึงวิธีป้องกันสุขภาพเมื่อประสบกับรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะกิจกรรมของมนุษย์เอง” Haines กล่าว
Dr. Caren Solomon อีกหนึ่งผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวว่า ในบทบาทของคนเป็นแพทย์ควรมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษเพื่อปกป้องสุขภาพและบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชน และภารกิจนั้นควรรวมไปถึงวิธียับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าไว้ด้วย
“เราหวังว่างานนี้จะทำให้ผู้คนมีความรู้มากขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น” Dr. Caren Solomo พยายามชี้ให้เห็นว่าภาคการดูแลสุขภาพมีสัดส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน
เธอกล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพควรสนับสนุนให้องค์กรของตัวเองมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สิ่งที่เธอเรียกร้องนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และมันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ แห่ง
ยกตัวอย่าง Boston Medical Center ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นมิตรกับสภาพอากาศผ่านการทำฟาร์มบนชั้นดาดฟ้าของโรงพยาบาล
หรือ Gundersen Health System ในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเป็นระบบการดูแลสุขภาพแห่งแรกในประเทศที่ผลิตพลังงานได้มากกว่าที่ใช้ โดยอาศัยพลังงานลม แสงอาทิตย์ และก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบในท้องถิ่น
Dr. Caren Solomo กล่าวเพิ่มเติมว่า แพทย์ยังสามารถกดดันนักการเมืองให้สร้างนโยบายสาธารณะที่เน้นไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้นได้ และกดดันให้กลุ่มต่างๆ ถอนเงินทุนออกจากโครงการที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อปี พ.ศ. 2561 สมาคมการแพทย์อเมริกันและ Royal College of General Practitioners มีมติเรียกร้องให้ถอนการลงทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล
นอกจากนี้ แพทย์สามารถช่วยให้ความรู้แก่ผู้ป่วย และกระตุ้นให้ผู้คนลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ยกตัวอย่างการแนะนำให้ผู้คนใช้จักรยานหรือเดินไปทำงานแทนการขับรถเพื่อเป็นการลดปัญหาทางมลภาวะทางอากาศ และอากาศที่สะอาดจะเป็นผลดีต่อการออกกำลังกายและช่วยทำให้สุขภาพของผู้คนดีขึ้น
“เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ในทางการแพทย์การป้องกันไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันโรคได้ดีกว่ารอให้เราอ่อนแอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราป้องกันในทันที เราก็สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของเราได้” Dr. Caren Solomo กล่าว
Sir Andrew Haines เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว “คนรุ่นใหม่จะได้ไม่ต้องมองย้อนกลับมาอย่างสงสัยว่าทำไมเมื่อมีโอกาสแล้วถึงไม่แก้ไขปัญหากันให้เร็วกว่านี้”