‘อิสรภาพ’ เป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาและต้องการ เพราะไม่มีใครอยากที่จะถูกยึดติดไว้กับสิ่งใดหรือถูกตีกรอบไว้ในที่แคบๆ เราทุกคนล้วนอยากมี ‘อิสรภาพ’ ไม่ว่าจะเป็นทางความคิด เวลา หรือการเงิน อิสรภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนต้องการ เราอยากมีเราอยากได้ แต่ในบางครั้งสิ่งที่เราต้องการก็กำลังพรากบางสิ่งไปจากบางอย่างด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคนด้วยกัน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือแม้กระทั่ง ‘แม่น้ำ’
รู้หรือไม่ 2 ใน 3 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุด 242 แห่งของโลกไม่ได้ไหลอย่างอิสระอีกต่อไป เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปิดกั้นขวางทางน้ำไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนตัดผ่าน สิ่งปลูกสร้าง เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตร อ่างเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งเขื่อน เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
แม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ ตะกอน และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้โดยปราศจากสิ่งกีดขวาง สัตว์ต่างๆ เช่น โลมาแม่น้ำ และปลาอพยพ สามารถว่ายน้ำขึ้นลงได้ตามต้องการ และแม่น้ำเองก็สามารถขยายตัวและหดตัวตามธรรมชาติ
แม่น้ำ เป็นส่วนสำคัญของโลกของเราก่อตัวเป็นเครือข่ายที่สลับซับซ้อนซึ่งมีการเชื่อมโยงที่สำคัญกับพื้นดิน น้ำใต้ดิน และบรรยากาศ แม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระให้ประโยชน์ที่หลากหลายจึงมักถูกมองข้ามและประเมินค่าต่ำไป แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
แม่น้ำที่มีสุขภาพดี (ไหลอย่างอิสระ) ช่วยสนับสนุนปริมาณปลาน้ำจืดที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารให้กับผู้คนหลายร้อยล้านคน ทำให้เกิดตะกอนที่ช่วยรักษาพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำให้อยู่เหนือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งที่รุนแรง ป้องกันการสูญเสียโครงสร้างพื้นฐาน ทุ่งนาจากการกัดเซาะ และความมั่นคงของความหลากหลายทางชีวภาพ
โลกมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดเล็กกว่า 2.8 ล้านแห่งทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการแตกตัวของแม่น้ำ แม่น้ำมากมายถูกตัดตอน ตัดขาดจากกัน
เขื่อนได้รับการออกแบบโดยเจตนาเพื่อขัดขวางการไหลของแม่น้ำ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและน้ำจืดโดยการขัดขวางการย้ายถิ่นของสายพันธุ์ แต่ยังเร่งการหดตัวของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำปลายน้ำและทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำเสี่ยงต่อน้ำท่วมเนื่องจากตะกอนไม่สามารถไหลไปได้
อะไรที่มากเกินไปมัก ‘ไม่ดีเสมอ’
ธรรมชาติออกแบบมาให้ทุกสิ่งพึ่งพากัน แต่ตอนนี้เรากำลังพยายามแยก ‘แม่น้ำ’ ออกจากกัน สายพานที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลกกำลังจะขาดลง ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาทบทวนถึงสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่อดีตว่ามันยังจำเป็นอยู่ไหม ณ ตอนนี้ เรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม
การรื้อเขื่อนเป็นอีกวิธีหนึ่งในการฟื้นฟูแม่น้ำ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ ได้เริ่มรื้อถอนเขื่อนไปแล้วประมาณ 1,500 แห่ง การสนับสนุนการฟื้นฟูแม่น้ำผ่านการรื้อถอนเขื่อนก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในยุโรปและญี่ปุ่น โครงการที่เรียกว่า Dam Removal Europe มุ่งเน้นไปที่การล้างแม่น้ำของเขื่อนที่เก่าหรือล้าสมัยกว่า 30,000 แห่งที่ยังคงมีอยู่ทั่วยุโรป โครงการเหล่านี้ควรเริ่มดำเนินการในวงกว้างมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่ามีการป้องกันและทำให้แม่น้ำกลับมาไหลอิสระได้อย่างเดิม
ทิศทางของโลกกำลังเปลี่ยน ความรู้และเทคโนโลยี ณ ตอนนั้นอาจไม่เหมาะกับตอนนี้ เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สภาพอากาศเปลี่ยน หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่ทำไมเรายังใช้นวัตกรรมแบบเดิมในการแก้ไขปัญหา
ผู้เขียน อัครวิชญ์ จันทร์พูล
อ้างอิง