ปัจจุบันหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโลกเรามากที่สุดคือปัญหาขยะล้นโลก อันเนื่องมาจากการจัดการกับขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในหลายครั้งที่เราเห็นการรณรงค์เรื่องการจัดการกับปัญหาขยะในฝั่งผู้บริโภคออกมาสู่สังคมอยู่ตลอด ทว่ามันกลับไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาขยะเลยแม้แต่น้อย
นั่นจึงทำให้เราต้องย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ว่าบางครั้งเราก็ลืมมองถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง
กล่าวคือ ผู้ผลิตเองก็มีส่วนไม่ใช่น้อยต่อการสร้างขยะ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดปัญหาหนึ่งขึ้นมา นั่นจึงทำให้หลักการ EPR หรือ Extended Producer Responsibility ถูกยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อปัญหาขยะมากขึ้น
ความหมายและที่มาของ EPR กับการจัดการแก้ไขปัญหาขยะ
หลักการ EPR คือ เครื่องมือที่ขยายความรับผิดชอบไปยังภาคการผลิตผ่านวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ โดยหลักการ EPR มีส่วนในการช่วยให้ผู้ผลิตเกิดความตระหนักต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักการ EPR นั้นมักถูกขับเคลื่อนผ่านตัวกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ผลิตออกมาใช้ระบบเรียกคืน (Take-back system) ในการเรียกคืนขยะบรรจุภัณฑ์หรือซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังการบริโภค เพื่อช่วยในการบริหารจัดการขยะ รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และซากผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด
โดย EPR นั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ผ่านรายงานของ Thomas Lindhqvist และ Professor Karl Lidgren ที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศสวีเดน
หลักการ EPR ตามแนวทางของ Lindhqvist มีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่
1. สร้างระบบการรวบรวมและเก็บขนซากผลิตภัณฑ์หรือขยะบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดการทิ้งขยะอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง
2. เพิ่มสัดส่วนการนำวัสดุจากซากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ทั้งโดยการใช้ซ้ำ (reuse) รีไซเคิล (recycle) และการแปลงเป็นพลังงาน (energy recovery)
3. สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
ประเทศไทยกับหลักการ EPR
ประเทศไทยมีการพูดถึงประเด็น EPR มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ที่รัฐบาลยุโรปกำหนดให้ผู้ผลิตต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์และจำกัดการใช้สารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อการรีไซเคิล ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตสินค้าออกสู่ยุโรป เลยกลัวว่าหากไม่ดำเนินนโยบายตามก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจได้ จึงทำให้รัฐบาลไทย ณ ขณะนั้น สนใจที่จะนำหลักการ EPR มายกร่างกฎหมายสำหรับซากผลิตภัณฑ์ที่จัดการได้ยากในประเทศไทย
อย่างไรก็ดีความพยายามดังกล่าวก็ไม่ได้สำเร็จแต่อย่างใด แต่ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการจุดประกายประเด็นการจัดการปัญหาขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นกระแสมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าปัจจุบันภาครัฐและเอกชนได้เริ่มให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการทำความเข้าใจเรื่องหลักการ EPR เพื่อนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ ทว่าปัญหาที่พบในประเทศ คือ ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและภาคการผลิตเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลยังไม่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากพอออกมารองรับ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การใช้หลักการ EPR ในภาคการผลิตในไทยนั้นยังไม่ถูกบังคับอย่างจริงจัง แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้มีการขับเคลื่อนการใช้หลักการ EPR อยู่ตลอด อาทิ กรมควบคุมมลพิษที่กำลังพิจารณาจะยกร่างเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต โดยมีความต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสถาบันพลาสติกประเทศไทยที่ได้ส่งเสริมการใช้หลักการ EPR ผ่านการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่องการผลิตและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
หลังจากนี้เราคงต้องจับตามองต่อถึงทิศทางของการผลักดันกฎหมาย EPR ในไทยและการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคการผลิตต่อไป
อ้างอิง
- Extended Producer Responsibility
- หลักการ EPR “ปิดลูปการจัดการซากผลิตภัณฑ์ด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”
- “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility)” เครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ภาคธุรกิจเตรียมรับกฎหมายใหม่ EPR บังคับทำแผนกำจัดขยะพลาสติก
- ภาพประกอบ : Hermes Rivera
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ