ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ช้างป่าถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของชุมชน โดยพวกมันได้เข้าไปทำลายพืชสวนทางการเกษตรของชาวบ้าน และในบางครั้งช้างป่าเหล่านี้มีความอันตรายต่อชีวิตของชาวบ้านด้วยเช่นกัน
จากความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับช้างป่า จึงได้นำไปสู่การริเริ่มแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างช้างป่าและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการด้วยแนวคิดการปรับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างป่าให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ผ่าน “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าบนฐานบูรณาการเชิงระบบนิเวศสังคม” โดยนายพิเชฐ นุ่นโต และคณะ
โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ยังได้ร่วมกับชุมชนตำบลห้วยเขย่ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก ดำเนินการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาคนกับช้าง เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างโดยพัฒนาเครื่องมือเพื่อการจัดการช้างอย่างสันติ
โครงการวิจัยชิ้นนี้ได้เข้าไปศึกษาถึงพฤติกรรมของช้างจากคนในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง จากฐานข้อมูลของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และตามคำบอกกล่าวของควาญช้างชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าตำบลห้วยเขย่ง มีช้างป่าอาศัยอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ต่อเนื่องจนถึงอุทยานแห่งชาติไทรโยค และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม
กล่าวคือ บริเวณเขตป่าตะวันตกโซนใต้โดยช้างป่ามีจำนวนมากถึง 100-150 ตัว พวกมันเข้ามาหากินในพื้นที่ของชาวบ้านบริเวณชายป่าใกล้เคียงถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันนับตั้งแต่พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชองชุมชนทั้ง สวนยางพารา ข้าวไร่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของช้างป่า
ดังนั้น โครงการวิจัยชิ้นนี้จึงได้เข้าศึกษาและพัฒนาระบบการผลิต แปรรูป และตลาดของพืชท้องถิ่นแบบครบวงจรเพื่อลดผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ชุมชนตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ช้างป่าเข้ามาหาของกินจนทำให้พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทีมวิจัยจึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและปรับปรุงพืชเพื่อลดแรงดึงดูดของช้าง และนำพืชเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ พืชที่ทำการวิจัยฯ ออกมาแล้ว พบว่าช้างนั้นไม่กิน คือ กาแฟ พริกไทย และขมิ้น โดยพืชทั้ง 3 ชนิด สามารถแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
อย่างไรก็ดี หากมองในมิติของการตลาด กาแฟจะเป็นพืชที่สามารถทำการตลาดและเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย อาจกล่าวได้ว่ากาแฟเป็นพืชที่สามารถแปรรูปและสร้างมูลค่ากลับสู่ชุมชนได้ นั่นจึงทำให้โครงการวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาและพัฒนากาแฟจนได้ออกมาเป็น “กาแฟช้างป่า”
กว่า 3 ปี กาแฟช้างป่า เปรียบเสมือนจุดเชื่อมให้เกษตรกรที่มีปัญหาได้ร่วมมือกันแสวงหาแนวทางลดผลกระทบจากช้างและสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยการร่วมสร้างเครือข่ายผลิตกาแฟและออกจำหน่ายสู่ตลาดจริงในพื้นที่ ไม่เพียงเท่านี้กาแฟมิตรช้างป่ายังเป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องปัญหาช้างป่ากับชุมชนให้คนภายนอกชุมชนได้รับรู้ผ่านกระบวนการการตลาดด้วยเช่นกัน
การจำหน่ายเมล็ดกาแฟนั้นถือเป็นการส่งต่อแนวคิดการแก้ไขปัญหาช้างป่าได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกวิธีหนึ่ง ผู้คนที่ซื้อกาแฟไม่เพียงแต่จะได้ลิ้มรสลิ้มลองรสชาติกาแฟที่เข้มข้น หรือได้ไออุ่นร้อน ๆ จากกาแฟหอมกรุ่นเพียงเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งต่อแนวคิดดังกล่าวผ่านเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วย
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ทางผู้จัดทำโครงการวิจัยและคณะได้นำเมล็ดกาแฟมาจัดจำหน่ายและได้เปิดขายกาแฟจาก กาแฟมิตรช้าง ให้บุคคลทั่วไปได้ลิ้มลองรสชาติของกาแฟที่ได้รับการร่วมมือจากคนและช้าง โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ในวาระครบรอบ 63 ปี ของศูนย์วิจัยแห่งชาติด้วย
กิจกรรมในครั้งนี้ไม่ได้เพียงแค่สร้างรายได้จากเมล็ดกาแฟเพียงเท่านั้น แต่ยังได้ส่งต่อแนวคิดการจัดการการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ไปสู่ผู้ที่มีความสนในเรื่องของกาแฟ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดขายของกาแฟมิตรช้างโดยแท้จริง
จากกิจกรรมวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สุดอย่างหนึ่งของโครงการวิจัยในครั้งนี้เลยก็ว่าได้
ท้ายที่สุด การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติระหว่างคนกับช้างจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่สำคัญไปกว่านั้น โครงการวิจัยในครั้งนี้ก็ได้มอบอาชีพที่ยั่งยืนแก่ชุมชนด้วย
อ้างอิง
- การศึกษาและพัฒนาระบบการผลิต แปรรูป และตลาดของพืชท้องถิ่นแบบครบวงจรเพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
- ภาพประกอบ ปราโมทย์ ศรีใย
- Human Elephant Voices
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ