นกยูงไทยกำลังจะสูญพันธุ์ เมื่อดอยภูนางที่อยู่อาศัยสุดท้ายอาจถูกแทนที่ด้วยเขื่อน และจมดิ่งอยู่ใต้น้ำ
.
มนุษย์เบียดเบียนสัตว์ป่ามากพอหรือยัง?
จากหลายโครงการสร้างเขื่อนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความสูญเสียนั้นมีมากกว่าความคุ้มค่าที่จะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อน
338 ชนิด 1,364 ตัว คือตัวเลขสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในกลุ่มน้ำคลองแสง สัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ในปี 2528 ในจำนวนสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดมีสัตว์ป่าที่ได้รับการกำหนดสถานภาพว่ากำลังจะสูญพันธุ์อยู่ด้วย 14 ชนิด ได้แก่ ช้าง สมเสร็จ และกระซู่ เป็นต้น แต่ภายหลังภารกิจดังกล่าวพบว่า สัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือ ตายเกือบทั้งหมด
บทเรียนในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพง ที่หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องทำการบ้านอย่างหนัก หากจะสร้างเขื่อนหรือโครงการใดๆ ที่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนอกและในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหน เรากลับเห็นการเดินหน้าของโครงการต่างๆ ที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติที่เหลืออยู่
ล่าสุดจะมีการจัดประชุมเพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จ.พะเยา เพื่อให้กรมชลประทานเตรียมก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ (เขื่อน) ความจุ 3.45 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 4,000 ไร่ โดยพื้นที่ดำเนินโครงการบางส่วน (เนื้อที่ 397 ไร่) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังที่มีความสมบูรณ์ และตามริมลำน้ำเป็นป่าเบญจพรรณ ที่แห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่พิเศษที่นกยูงไทยจะเข้ามาใช้ประโยชน์ เนื่องจากนกยูงเลือกใช้พื้นที่ป่าบริเวณลำห้วยแม่เมาะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย หาอาหาร เกี้ยวพาราสี ผสมพันธุ์ พื้นที่ทำรังวางไข่ พื้นที่เลี้ยงลูก และพื้นที่พักนอนในเวลากลางคืน
จากการสำรวจพบว่า บริเวณที่มีการสร้างเขื่อนมีนกยูงไทย อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ประมาณ 20 ตัว ต่อ ตร.กม.
นกยูงไทย (Green Peafowl Pavo muticus) ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในระดับโลก ตาม IUCN red list มักพบได้ในประเทศกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม และได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติของบังคลาเทศ อินเดีย และมาเลเซีย
นกยูงไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่งของประเทศไทย ทั่วโลกมีนกยูงถึง 39 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบนกยูง 2 ชนิดย่อยคือ นกยูงชวา หรือ นกยูงใต้ (Pavo muticus muticus) และนกยูงอินโดจีน หรือ นกยูงเหนือ (Pavo muticus imperator)
หากพื้นที่ตรงนี้น้ำท่วมเราก็แค่ย้ายนกยูงไปที่อื่น?
ข้อมูลนี้ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้ให้ความเห็นว่า “สัตว์แต่ละชนิด มีความต้องการทางชีววิทยาที่จำเพาะ พื้นที่ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของนกยูงที่ดีที่สุด คือ พื้นที่ราบลุ่มริมลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และนกยูงต้องใช้ลานหาดริมห้วยเป็นพื้นที่ในการเกี้ยวพาราสี จับคู่ผสมพันธุ์
ทุกวันนี้ เราอยู่ในวิกฤตของการ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรง สัตว์ป่าหลายชนิดประสบปัญหารายล้อม เราจึงจำเป็นต้องทำทุกวิธีทาง ที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างปัจจัยเชิงลบ ต่อการการดำรงชีวิต สืบทอดเผ่าพันธุ์ของพวกมัน”
จากโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นแล้วว่า แม้จะระมัดระวังมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว สัตว์ทุกตัวที่ได้รับการช่วยเหลือ ก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้
อ้างอิง
ข้อมูลนกยูงไทย Green Peafowl Pavo muticus ตาม IUCN red list
ข้อมูลชนิดพันธุ์นกยูงไทย
ผู้เขียน
นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง